บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

Carbon-neutral Economy…พลิกโฉมโลกสู่สมการธุรกิจยุคใหม่

 การดำเนินมาตรการลดคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในทุกภาคส่วนของโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และ EU ซึ่งตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon-neutral Economy ภายในปี 2593 กำลังเป็นโจทย์ใหม่ที่ต้องเตรียมรับมือ ทั้งในมิติของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ควรเร่งปรับตัวในการรุกหาแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนตลอดวงจรธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับกระแสโลก และมิติของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องสานต่อกลไกควบคุมคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นด้วยการพัฒนาต่อยอดจากระบบซื้อขายสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนภาคสมัครใจในปัจจุบัน รวมทั้งการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ในการปรับตัวแต่เนิ่นๆ เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และพลังงานหมุนเวียน 

บทความฉบับนี้ผมอยากชวนท่านผู้อ่านมาร่วมกันขบคิดถึงโจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือ ซึ่งเป็นผลจาก New Landscape ของโลกการค้าการลงทุนที่เกิดจากการลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศต่างๆ ไปจนถึงบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกธุรกิจที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือ ดังนี้

New Chapter of Trade : เตรียมรับมือบริบทใหม่ของโลกการค้าที่คิดราคาการปล่อยคาร์บอน ภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังจับตามอง EU ซึ่งประกาศใช้มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) โดยในปี 2566 จะทดลองใช้ด้วยการคำนวณการปล่อยคาร์บอนเพื่อคิดค่าธรรมเนียมสินค้านำเข้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง ก่อนจะบังคับใช้และเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมจริงเฟสแรกในปี 2569 เริ่มจากกลุ่มสินค้าเหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย และการผลิตไฟฟ้า ซึ่งค่าธรรมเนียมจะอ้างอิงจากราคาในตลาดคาร์บอนของ EU ส่วนสหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อเตรียมจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงเช่นกัน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนสู่บริบทใหม่ของโลกการค้าที่จะส่งแรงกระเพื่อมไปยังภาคธุรกิจที่ค้าขายกับ EU และสหรัฐฯ ให้ต้องปรับตัวแต่เนิ่นๆ เพราะมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มจะขยายการบังคับใช้กับกลุ่มสินค้านำเข้าอื่นเพิ่มเติมในระยะถัดไป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการผลักดันมาตรการลดคาร์บอนและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่เช่นเดียวกับ CBAM

New Wave of Carbon Control : เตรียมรับมือกระแสการควบคุมคาร์บอนระลอกใหม่ของนานาประเทศ การออกมาตรการ CBAM ของ EU จะกดดันให้ประเทศคู่ค้าต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่กระแสการลดคาร์บอนตามไปด้วย โดย CBAM กำหนดให้ประเทศที่มีระบบการควบคุมคาร์บอนในประเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกับ EU จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมสินค้านำเข้า ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวเป็นกลไกที่มุ่งกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้ายกระดับกลไกการปรับลดคาร์บอนภายในประเทศ โดยประเทศที่น่าจับตามอง คือ จีน เนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของ EU และมีการประกาศเป้าหมายสู่ Carbon-neutral Economy ภายในปี 2603 โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้ทดลองเปิดตลาดคาร์บอนแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกช่วยปรับราคาสินค้าเพิ่มตามการปล่อยคาร์บอนผ่านการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอน (Carbon Credit) และในระยะถัดไปมีแนวโน้มที่จีนจะบังคับใช้มาตรฐานด้านคาร์บอน อาทิ การติดฉลากคาร์บอนกับสินค้านำเข้าเช่นเดียวกับ EU และสหรัฐฯ

New Business Model : เตรียมรับมือโมเดลธุรกิจใหม่ที่ต้องใส่ตัวแปรคาร์บอนในสมการธุรกิจ กระแสการลดคาร์บอนกำลังถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น IBM, Apple, Toyota รวมถึงเครือ CP ของไทย ล้วนมีการตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า ส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิต ไปจนถึงการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน และการเลือกซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ต้องมีเกณฑ์ด้านคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น Toyota ที่ประกาศเริ่มลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ราว 80 รายการในไตรมาส 3 ของปี 2564 และอยู่ระหว่างร่วมหาแนวทางกับซัพพลายเออร์ Tier 1 เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง 3% ในปี 2564 รวมทั้งจะปรับใช้แนวทางดังกล่าวกับซัพพลายเออร์ Tier 2 และ Tier 3 ต่อไป ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็น OEMs ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจรายใหญ่

ท่ามกลางความท้าทายที่กำลังพลิกโฉมโลกธุรกิจสู่ยุคคาร์บอนต่ำ EXIM BANK พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจไทย สู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกการค้าการลงทุนยุคใหม่ พร้อมทั้งส่งเสริมโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ที่สอดรับกับกระแส Carbon-neutral Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ EXIM BANK ในการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่พร้อมจะเป็นทัพหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติที่เชื่อมโยงกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview