บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
หลังจากเข้ารับตำแหน่งกัปตันทีมของ EXIM BANK มาปีกว่า ผมมีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ SMEs หลายราย รวมถึงรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ SMEs ในหลายมิติ ทำให้เข้าใจและมองเห็นปัญหาของ SMEs ในแง่มุมต่างๆ โดยหนึ่งในข้อมูลที่สะท้อนสถานการณ์ของ SMEs ไทยได้เป็นอย่างดี คือ สัดส่วน GDP ของ SMEs ไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34% ของ GDP รวมทั้งประเทศ ตัวเลขนี้ขยับเพิ่มขึ้นเพียง 1% ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน หลายประเทศอยู่ในระดับสูง เช่น อินโดนีเซีย 61% เวียดนาม 45% มาเลเซีย 39% สะท้อนว่า SMEs ไทยยังสามารถเพิ่มบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ และหากมองลึกลงไป หนึ่งในข้อจำกัดหรืออุปสรรคสำคัญในการเติบโตของ SMEs ไทย คือ การที่ SMEs ไทยส่วนใหญ่กว่า 99% ของทั้งระบบ ยังค้าขายอยู่แต่ในประเทศ ปัจจุบันมี SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกเพียง 2.3 หมื่นราย หรือไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งระบบ เทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา 12% เวียดนาม 8% ดังนั้น SMEs ไทยที่ทำการค้าอยู่เฉพาะภายในประเทศต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง แต่หากเปิดโอกาสด้วยการขยายสู่ตลาดโลก ซึ่งหลายประเทศเป็นตลาดขนาดใหญ่ เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูง รวมถึงมีความต้องการนำเข้าเป็นจำนวนมาก ผมเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งทางออกให้ SMEs ไทยเติบโตต่อไปได้อีก ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานเชิงประจักษ์จากการทำ Data Analytics ข้อมูล SMEs (เฉพาะผู้ประกอบการที่มีรายได้ 1.8-500 ล้านบาทต่อปี) ชี้ให้เห็นว่าผู้ส่งออกส่วนใหญ่มีผลประกอบการดีกว่าผู้ที่ขายเฉพาะในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายได้เฉลี่ยที่มากกว่า 4.3 เท่า และกำไรสุทธิเฉลี่ยมากกว่า 1 เท่า
จากข้อมูลข้างต้น จึงเป็นที่มาของคำที่ผมมักกล่าวถึงและเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “เรือเล็กต้องออกจากฝั่ง” ถึงเวลาแล้วที่ SMEs ไทยต้องกล้านำธุรกิจขึ้นแข่งขันบนเวทีโลก ไม่เพียงเพื่อเพิ่มบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจที่กว้างและหลากหลายกว่าที่เคย โดยการสร้าง SMEs ให้เติบโตสู่ตลาดโลกสามารถเริ่มจากการพัฒนากลุ่มที่อยู่ใน Supply Chain ของการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับการส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งมีราว 10% ของ SMEs
ทั้งระบบ โดยแบ่งแนวทางการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ทำได้ทันที (Quick Win) สนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ให้เติบโต โดยเฉพาะรายที่มี SMEs อยู่ใน Supply Chain เป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ออกไปลงทุนในประเทศที่มีข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น เวียดนามที่มีจำนวนบริษัทในอุตสาหกรรมสนับสนุนไม่ถึง 1% ของทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้ SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางได้อานิสงส์จากความต้องการของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอีกมาก
- ระยะกลาง (Medium Term) ขอเรียกชื่อเป็น “โมเดลพี่จูงน้อง” ในกรณีที่ค้าขายกันอยู่แล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถดึงให้ Supplier ที่อยู่ใน Supply Chain เดียวกันเข้าสู่วงจรการค้าระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้นและเข้าถึงเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กิจการ ผ่านระบบ Supply Chain Financing Platform โดยมีสถาบันการเงินเป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการค้าและการเงิน ซึ่งจะช่วยให้สามารถอิงเครดิตของผู้ประกอบการรายใหญ่มาการันตีให้ SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain ไม่เพียงช่วยเสริมสภาพคล่องให้ SMEs แต่ยังช่วยให้วงจรการค้าไม่สะดุดอีกด้วย
- ระยะยาว (Long Term) เปลี่ยน Indirect Exporters โดยเฉพาะ SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain การค้าระหว่างประเทศ และผู้ที่ขายผ่าน Trader ให้ยกระดับกิจการและหันมาสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกโดยตรง ภายใต้แนวทางนี้อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการบ่มเพาะ SMEs ให้มีศักยภาพ พร้อมแข่งขันบนเวทีโลก ทั้งความรู้ด้านการส่งออก เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ตลอดจนการพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล
EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาของไทย ให้ความสำคัญกับภารกิจในการสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่แก่ประเทศภายใต้แนวทางข้างต้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดินหน้าสานพลังกับสามสภาที่เป็นเสาหลักของภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการตลอด Supply Chain ตลอดจนป้องกันความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการอย่างครบวงจร เพื่อให้ก้าวสู่เวทีโลกด้วยความมั่นใจ นอกจากนี้ EXIM BANK ยังเดินหน้าสู่บทบาทการเป็นมากกว่าธนาคาร “Beyond Banking” ด้วยการเป็น Business Partner เคียงข้างผู้ประกอบการตลอดวงจรธุรกิจ โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศเติบโตและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรงต่อไป
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ที่เกี่ยวข้อง
-
ถอดโมเดลการปรับตัวของเกาหลีใต้ ... เร่งหยุดปัญหาเพื่อสร้างอนาคต
เมื่อพูดถึงต้นแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว หลายท่านคงนึกถึง “เกาหลีใต้” ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงราว 50 ปี พลิกฟื้นเศรษฐกิจจากที่เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในช่วงหลังสงครามเกาหลี (...
29.03.2024 -
Greenomics ... โมเดลเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ EXIM BANK เพิ่งครบรอบ 30 ปีแห่งการก่อตั้งธนาคาร โดยกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา EXIM BANK ปรับบทบาทและขยายภารกิจสนับสนุนธุรกิจไทย ตลอดจนเป็นกลไกพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ส่งเสริมกา...
27.02.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
จับสัญญาณความเสี่ยงธุรกิจจาก 3 ปัญหาคอขวดโลก
หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ปัญหาคอขวด (Bottlenecks) อย่างการที่ต้องรอคิวช่องตรวจหนังสือเดินทางเป็นเวลานานที่สนามบิน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวที่ความต้องการใช้บริการหนาแน่นแต่ช่องการให้บริการมีจำกัด ซึ่งปัญหาคอขวดโลกก็มีสาเหตุ...
29.03.2024