Hot Issues

จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย

สถานการณ์สำคัญ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกจากมาเลเซียเข้าไปจำหน่ายในประเทศได้เป็นครั้งแรก หลังจากอนุญาตให้นำเข้าเนื้อทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซียได้ตั้งแต่ปี 2554 ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่สองนอกจากไทยที่สามารถส่งออกทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกไปจีนได้ โดยภายในเวลาเพียง 3 เดือน (เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2562) มาเลเซียส่งออกทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกไปจีนแล้ว 565 ตัน มากกว่าปริมาณส่งออกทุเรียนไปจีนทั้งปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 235.6 ตัน โดยทั้งหมดอยู่ในรูปของเนื้อทุเรียนแช่แข็ง

ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ

เนื่องจากทุเรียนแช่แข็งกับทุเรียนสดเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ (Substitute Goods) ค่อนข้างดี ดังนั้น การที่จีนเปิดตลาดสินค้าทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกให้แก่มาเลเซียจึงไม่เพียงทำให้ทุเรียนแช่แข็งของไทย ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณส่งออกไปยังจีนเฉลี่ยปีละ 10,000 ตัน (ครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนแช่แข็งในจีนถึงร้อยละ 97) ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ยังทำให้ทุเรียนสดของไทย ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไปยังจีนประมาณปีละ 430,000-450,000 ตัน (ครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดทั้งหมดในจีน) มีคู่แข่งขันใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่า ในระยะสั้นผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งของไทยไปจีนน่าจะยังมีจำกัด ด้วยเหตุผล ดังนี้

  • ปัจจุบันมาเลเซียมีผลผลิตทุเรียนประมาณปีละ 340,000 ตัน นำมาใช้บริโภคภายในประเทศเกือบทั้งหมด เหลือส่งออกในแต่ละปีราว 20,000-23,000 ตัน โดยกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณดังกล่าวมีตลาดหลักที่สิงคโปร์อยู่แล้ว จึงคาดว่าหากผลผลิตทุเรียนในมาเลเซียยังไม่ได้เพิ่มขึ้นจากระดับเดิมมาก มาเลเซียจะมีทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกส่งออกไปจีนได้ไม่เกินปีละ 8,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.8 ของปริมาณความต้องการทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรวมกันในแต่ละปีของจีนที่ระดับ 440,000-460,000 ตัน
  • นอกจากนี้ ทุเรียนของมาเลเซียยังมีราคาแพงกว่าทุเรียนของไทยมาก โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์มูซางคิง (Musang King) ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายในจีนสูงถึงกิโลกรัมละ 200-220 หยวน หรือ 860-946 บาท เทียบกับทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยซึ่งมีราคาขายในจีนอยู่ที่กิโลกรัมละ 65-85 หยวน หรือ 280-366 บาท ทำให้ทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกจากมาเลเซียไม่สามารถเจาะตลาดกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในจีนที่ต้องการนำทุเรียนแช่แข็งไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อาทิ ไอศกรีม พิซซ่า และขนมขบเคี้ยว ได้ ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดด้านราคายังทำให้ทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกจากมาเลเซียอาจจะเจาะตลาดได้เฉพาะกลุ่มผู้ที่นิยมบริโภคทุเรียนสดที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้น


ทั้งนี้ ในระยะกลาง-ยาวฝ่ายวิจัยธุรกิจแนะนำให้จับตาสถานการณ์การผลิตทุเรียนของมาเลเซียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียเพิ่งประกาศนโยบายส่งเสริมการปลูกทุเรียนแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจดั้งเดิมของประเทศอย่างปาล์มน้ำมัน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มผลผลิตทุเรียนให้ได้ปีละ 443,000 ตันภายในปี 2573 (หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันราว 100,000 ตัน) ทั้งนี้ ผลผลิตทุเรียนในมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจกระทบการส่งออก ตลอดจนส่วนแบ่งตลาดทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนสดของไทยในตลาดจีนในอนาคต

เกร็ดน่ารู้

  • ปัจจุบันไทยส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรวมกันกว่าร้อยละ 95 ของมูลค่าส่งออกโลก ขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับ 2 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4
  • แม้จีนจะเปิดตลาดสินค้าทุเรียนแช่แข็งให้ทั้งไทยและมาเลเซีย แต่สำหรับทุเรียนสด จีนยังคงเปิดตลาดให้แก่ไทยเพียงประเทศเดียว โดยจีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยทั้งที่เป็นทางการ เช่น การนำเข้าผ่านฮ่องกง รวมถึงเส้นทาง R3A และเส้นทาง R9 และการค้าที่ไม่เป็นทางการบริเวณชายแดนเวียดนาม-จีน
  • แม้จีนไม่ได้ตั้งข้อกำหนดเรื่องสายพันธุ์ทุเรียนที่จะส่งเข้ามายังจีน แต่รัฐบาลมาเลเซียประกาศแล้วว่าจะส่งทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกไปยังจีนเฉพาะ 6 สายพันธุ์พรีเมียมเท่านั้น ได้แก่ D24, D99 (พันธุ์กบ), D160 (พันธุ์ Buluh Bawah), D168 (พันธุ์ Mas Halah Hasmah), D197 (พันธุ์ Musang King) และ D200 (พันธุ์ Black Thorn หรือ Ochee)
  • ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2562 มีบริษัทในมาเลเซียเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกไปยังจีนได้
เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview