Hot Issues

สหรัฐฯ เก็บ AD ยางล้อไทย ... ผลกระทบรุนแรงขึ้นในระยะถัดไป

ประเด็นสำคัญ

  • สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนเกือบ 50%) ประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้าย สำหรับยางล้อนำเข้าจากไทย (14.62 - 21.09%) เวียดนาม (0-22.27%) เกาหลีใต้ (14.72-27.05%) และไต้หวัน (20.04-101.84%) พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บ CVD กับยางล้อนำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 6.23-7.89% เพื่อตอบโต้การบิดเบือนค่าเงินด่อง
  • ในปี 2564 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางล้อของไทยไปสหรัฐฯ จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บ AD เนื่องจากตลาดรถยนต์สหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563
  • ในระยะถัดไป หากสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการ AD ไทยมีแนวโน้มจะเสียส่วนแบ่งตลาดยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในสหรัฐฯ บางส่วนให้แก่แคนาดา อินโดนีเซีย และเวียดนาม จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง รวมถึงจะเผชิญคู่แข่งสำคัญรายใหม่ในตลาดยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จากการปรับกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทยางล้อขนาดใหญ่เพื่อลดผลกระทบของ AD

หมายเหตุ : Anti-dumping Duty (AD)  = มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด  และ Countervailing Duty (CVD) = มาตรการตอบโต้การอุดหนุน

--------------------------------------------------------------------------------------

  • สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บ AD ขั้นสุดท้ายกับยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light Truck) ที่นำเข้าจากไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยอัตรา AD ขั้นสุดท้ายนี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะทบทวนอัตรา AD ครั้งต่อไป หรืออาจยกเลิกการจัดเก็บหากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USITC) พิจารณาแล้วไม่พบการทุ่มตลาด ซึ่งจะประกาศผลพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ ผู้ผลิตยางล้อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยถูกเรียกเก็บ AD ในอัตรา 17.08% ยกเว้น บจก.ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) และ บจก.แอลแอลไอที (ประเทศไทย) ที่ถูกเก็บในอัตรา 14.62% และ 21.09% ตามลำดับ
  • ยางล้อจากเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ CVD โดยให้เหตุผลว่าธนาคารกลางของเวียดนามแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เงินด่องอ่อนค่าเกินจริง ซึ่งมีผลให้เวียดนามได้เปรียบผู้ผลิตสหรัฐฯ ในการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม แม้เวียดนามถูกเรียกเก็บ CVD แต่เมื่อรวมกับ AD แล้ว ผู้ผลิตยางรายใหญ่ในเวียดนามอย่าง Sailun, Kumho, Bridgestone และ Yokohama (สัดส่วนรวมกว่า 90% ของการส่งออกยางล้อทั้งหมดของเวียดนาม) กลับถูกเรียกเก็บ AD และ CVD รวมกันเพียง 6.23-7.89% ซึ่งต่ำกว่า AD ของผู้ผลิตทุกรายที่อยู่ในไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ดังกล่าวถูกเรียกเก็บ AD ที่ 0% ขณะที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ AD จากผู้ผลิตรายกลางและรายเล็กในอัตรา 22.27% ยางล้อของเวียดนามจึงมีแต้มต่อในการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งสามดังกล่าว  และยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการขยายกำลังการผลิตในเวียดนามเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

มิติขอบเขตของผลกระทบ : ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากไทยส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ 2,711.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 หรือ 7.9% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนราว 50% และเกือบครึ่งหนึ่งของยางล้อที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กซึ่งถูกเรียกเก็บ AD

มิติด้านเวลา : ในระยะสั้น ผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ เก็บ AD ยางล้อของไทยยังมีจำกัด เพราะแม้การเก็บ  AD จะทำให้ต้นทุนการนำเข้ายางล้อจากไทยแพงขึ้น แต่ราคายางล้อของไทย โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่รวม AD แล้วยังต่ำกว่าคู่แข่งสำคัญ ทั้งเกาหลีใต้ เม็กซิโก แคนาดา และญี่ปุ่น ประกอบกับอานิสงส์จากตลาดรถยนต์โลก รวมถึงในสหรัฐฯ ในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากฐานที่ต่ำ ทำให้การส่งออกยางล้อในปี 2564 ยังมีโอกาสขยายตัว โดย IHS Markit คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ จะขยายตัวถึง 24% จากปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป การส่งออกยางล้อของไทยทั้งยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยางล้อบางรายเริ่มปรับกลยุทธ์หลังสหรัฐฯ ใช้มาตรการ AD ด้วยการขยายฐานการลงทุนไปประเทศที่ยังได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาหลังรวมผลกระทบจากมาตรการแล้ว เช่น เวียดนาม

มิติประเภทสินค้า : ยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 60% ของยางล้อทั้งหมดที่ถูกเก็บ AD) ไทยจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากเวียดนาม และอาจมีคู่แข่งรายใหม่เกิดขึ้น  โดยผู้ผลิตยางล้อในเวียดนามมีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ Kumho เตรียมลงทุนเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มกำลังการผลิตยางล้อในเวียดนาม เพื่อขยายการส่งออกไปสหรัฐฯ ขณะที่ Sailun ของจีนประกาศแผนลงทุนโรงงานยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเล็กในกัมพูชาแล้ว ด้วยเงินลงทุน 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Nankang Rubber Tire ของไต้หวัน ซึ่งถูกเก็บ AD ในอัตรา 101.84% มีแผนย้ายสายการผลิตยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กซึ่งถูกเก็บ AD ไปยังโรงงานของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น

ยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก (คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 40% ของยางล้อทั้งหมดที่ถูกเก็บ AD) ไทยมีแนวโน้มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กในสหรัฐฯ ให้กับคู่แข่งสำคัญอย่างแคนาดา (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ที่ 14.9% รองจากไทยที่ 27.3%) รวมถึงอินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากราคายางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กของไทยหลังรวม AD แล้วสูงกว่าประเทศคู่แข่งดังกล่าว

ผลจากมาตรการ AD ต่อการลงทุนตั้งฐานผลิตยางล้อ

การที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางล้อรายใหญ่ของโลกประกาศใช้มาตรการดังกล่าวกับหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางล้อสำคัญ รวมถึงไทย ส่งผลต่อตลาดยางล้อโลก ตลอดจน Supply Chain ของอุตสาหกรรม โดยในส่วนของไทย ศักยภาพในการเป็นฐานการลงทุนผลิตยางล้อเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง อาจกระทบต่อแผนการลงทุนของผู้ผลิตยางล้อรายสำคัญในระยะต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • CLMV Snapshot Q1/2565

    CLMV Snapshot : Update ความเคลื่อนไหวและข่าวน่าสนใจใน CLMV เป็นรายไตรมาส

    calendar icon01.04.2022
  • ปัญหาขาดแคลนชิปยืดเยื้อต่อในปี 2565 ... ผลกระทบต่อผู้ผลิตในไทย

    ประเด็นสำคัญ ปัญหาขาดแคลนชิปซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วราว 1 ปี ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อในปี 2565 จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีชิปเป็นส่วนประกอบ อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านต...

    calendar icon08.12.2021
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview