บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

Do or Die ... กู้วิกฤตโลกร้อน พลิกเกมธุรกิจอย่างยั่งยืน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจทั่วโลกต่างอยู่ในยุคแห่งการเร่งใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุด โดยแทบไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ความพยายามในการรวมกลุ่มและสร้างข้อตกลงในการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกันไม่ประสบผลสำเร็จชัดเจนนัก เพราะติดกับดักความคิดที่ว่าถ้าคนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม การกระทำของตนเพียงคนเดียวก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ การถลำลึกลงในกับดักดังกล่าวทำให้โลกต้องเผชิญวิกฤตโลกร้อนที่น่ากังวล และกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันมี 128 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศตั้งเป้า Net Zero Emissions แล้ว เพื่อให้โลกสามารถรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามแผนที่วางไว้ภายใต้ Paris Agreement โดยในปีนี้ทั่วโลกเตรียมใช้เวที COP 27 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่เมือง Sharm el-Sheikh ประเทศอียิปต์ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้วิกฤตโลกร้อนและผลกระทบที่ตามมาร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปอย่างทันท่วงทีและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับดักความคิดที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจที่เป็นทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตโลกร้อน และเป็นความหวังในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน บทความฉบับนี้ผมตั้งใจจะฉายภาพให้เห็นถึงความจำเป็นของภาคธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวท่ามกลางความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น

ต้นทุนของการติดกับดัก … สร้างความเสียหายในหลายมิติ

     การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินสมดุล ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนและกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและเป็นความท้าทายต่อภาคธุรกิจใน 2 มิติ ดังนี้

  • ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น (Physical Risk) เช่น น้ำท่วม Heatwave และภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างในกรณีไทย องค์กร Germanwatch รายงานว่า Climate Change ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเสียหายเฉลี่ย 82% ของ GDP หรือราว 9.8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2543-2562 ขณะที่ในปี 2565 หลายพื้นที่ในไทยเผชิญภาวะน้ำท่วมบ่อยครั้งจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าทุกปี ทั้งนี้ Swiss Re Institute กลุ่มธุรกิจประกันภัยชั้นนำของโลกประเมินว่าภายในปี 2593 ภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงราว 11-13.9% ของมูลค่า GDP โลกในปี 2593
  • ความเสี่ยงในช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อรับมือกับ Climate Change (Transition Risk) ซึ่งเกิดจากการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เช่น มาตรการปรับคาร์บอนสินค้านำเข้าก่อนข้ามพรมแดนของ EU (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง ต้องซื้อใบรับรองการปล่อยคาร์บอน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2570 ตลอดจนกระแสการปรับตัวของภาคธุรกิจ/องค์กรจำนวนมากทั่วโลกที่ประกาศจุดยืนในการลดคาร์บอน อาทิ H&M ที่ประกาศลดคาร์บอนครึ่งหนี่งภายในปี 2573 เช่นเดียวกับ DHL ที่ประกาศ Zero Emissions Logistics ภายในปี 2593 หรือผู้ประกอบการไทย อาทิ เครือ CP ที่ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 เช่นเดียวกับ Toyota และ Honda ที่มีฐานการผลิตในไทยก็ประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2593 ซึ่งสร้างความท้าทายให้แก่ธุรกิจที่อยู่ใน Supply Chain การผลิตเดียวกับธุรกิจดังกล่าวให้ต้องเร่งปรับตัวด้วยการหาแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนตลอดวงจรธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับกระแสดังกล่าว

ความพยายามของไทยในการออกจากกับดัก

      ไทยนับเป็นประเทศที่เกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทั้งในฐานะประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจาก Climate Change สะท้อนจากการจัดอันดับประเทศจากดัชนี Long-Term Climate Risk Index (CRI) 2021 ซึ่งจัดทำโดยองค์กร Germanwatch ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 9 จากราว 180 ประเทศทั่วโลก และในฐานะประเทศที่ร่วมรับผิดชอบปัญหาวิกฤตโลกร้อน ด้วยการที่ไทยประกาศเจตนารมณ์ในเวที COP 26 เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2608 ขณะที่ในการประชุม COP 27 ไทยเตรียมเสนอปรับเป้าหมายการลดคาร์บอนในปี 2573 ให้เข้มข้นขึ้นจากเดิมที่มีเป้าหมายลดอย่างน้อย 20% เป็น 40% (เทียบกับระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2548 ที่ไม่มีการดำเนินมาตรการปรับลดใดๆ)

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทยมีแผนในการนำมาตรการทางเศรษฐกิจ (Economic Policy) มาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เช่น การเก็บภาษี Carbon Tax เหมือนกับหลายๆ ประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการเก็บภาษีดังกล่าวในอุตสาหกรรม 5 ประเภทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ปูน เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2566 นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างกรอบกฎหมายในการกํากับดูแล ประเมินผล และกำหนดบทลงโทษเพื่อให้มีการจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

Do or Die … ธุรกิจจะออกจากกับดักได้อย่างไร

          ปัจจุบันธุรกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากแรงกดดันของกระแสการควบคุมคาร์บอนในทุกมิติ โดยเฉพาะมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่อย่าง CBAM ของ EU ขณะที่สหรัฐฯ ก็กำลังเร่งผลักดันร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อเตรียมจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงเช่นกัน คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2567 รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญของไทยอย่างยานยนต์ที่อยู่ใน Supply Chain ของเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังถูกท้าทายจากเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น ทำให้แนวทางดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือกสำหรับธุรกิจไทยที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้ถูกปลดออกจาก Supply Chain การผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ที่ปัจจุบันต่างมุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำและมีเกณฑ์ด้านคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือกซัพพลายเออร์ ด้วยกลยุทธ์เตรียมตั้งรับและพร้อมรุก ดังนี้

  • เตรียมรับมือให้รอบด้าน ตั้งแต่การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงการเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นในการเป็น Green Supply Chain ของผู้ผลิตระดับโลก ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์/สร้าง Brand Value การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สอดรับกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
  • พร้อมรุกในการเจาะตลาดผู้บริโภครักษ์โลก เนื่องจากปัจจุบันกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่ตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ สะท้อนจากผลสำรวจของ GlobalWebIndex ที่ระบุว่าราว 60% ของ Gen Z ยินดีจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะส่วนหนึ่งมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และควรให้การสนับสนุน สำหรับโอกาสธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น อาทิ Plant-based Food บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ Green Hotel เป็นต้น

      EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ไทยเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวด้วยการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พร้อมสนับสนุนธุรกิจไทยให้มีศักยภาพในการยกระดับสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกการค้าการลงทุนยุคใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงาน และการลงทุนด้านพลังงานสีเขียว รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุน Ecosystem ของเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การร่วมก่อตั้ง Carbon Market เพื่อที่จะเป็นกลไกในการช่วยให้ภาคธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality เป็นต้น ทั้งนี้ EXIM BANK ตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งของพลังผลักดันให้ไทยเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 260

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • Green Tourism : The Time to Transform is Now.

    “Work hard, Travel harder.” ในช่วงปลายปีที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน หลายท่านคงเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชาร์จพลังกันแล้ว เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยว เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิ...

    calendar icon14.11.2023
  • ตรวจสอบแรงลมน่านน้ำส่งออก ... ปรับทิศธุรกิจให้เดินหน้าอย่างราบรื่น

    แม้โลกจะเปิดปีใหม่มาด้วยความเชื่อมั่นของการผ่านจุดวิกฤตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ได้ทยอยลดระดับความรุนแรงจาก Pandemic เป็น Endemic ส่งผลให้เกิดการผ่อนคลายนโยบายควบคุม C...

    calendar icon31.03.2023
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview