เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ (Discontinued)

ภาษี VAT กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่างชาติ...กฎหมายใหม่ของกัมพูชาที่ผู้ประกอบการต้องรู้

แม้ปัจจุบันการค้าส่วนใหญ่ในกัมพูชายังเป็นรูปแบบดั้งเดิม แต่การซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นและมีการเติบโตอย่างโดดเด่น จนเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจกัมพูชา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เร่งให้ผู้บริโภคกัมพูชาหันมาใช้บริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การสั่ง Food Delivery ตลอดจนการชมรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ การเติบโตขึ้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ทำให้รัฐบาลกัมพูชาทยอยออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โดยในช่วงที่ผ่านมากัมพูชามีการประกาศมาตรการใหม่เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งถือเป็นกฎหมายใหม่ที่ผู้ประกอบการควรทราบ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

แนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชา

  • รายได้ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    จากข้อมูลของ Statista ระบุว่ารายได้ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเติบโตในระดับ 2 หลักมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งคาดว่ารายได้ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,086 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ขยายตัว 14% จากปีก่อน และจะขยายตัวเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ราว 17% ในปี 2565-2568 ขณะที่สัดส่วนผู้ใช้อีคอมเมิร์ซในกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นจาก 37% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 เป็น 44% ในปี 2568 สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาในระยะข้างหน้า

  • ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเติบโตอย่างโดดเด่นจากหลายปัจจัยสนับสนุน

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเติบโตอย่างโดดเด่นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจกัมพูชาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการที่ผู้บริโภคกัมพูชาส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะที่การทำธุรกิจของร้านค้าต่างปรับกลยุทธ์การทำการตลาดจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียว มาเป็นการทำการตลาดที่ครอบคลุมหลายช่องทางทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชัน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย อาทิ การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต การขนส่ง และระบบการชำระเงินในรูปแบบ Mobile Banking

มาตรการเรียกเก็บภาษี VAT จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการต่างชาติ

 

กระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (Ministry of Economy and Finance) ของกัมพูชาได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการดำเนินการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้ Prakas 542 MEF.P เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 และให้มีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวได้กำหนดรายละเอียดในส่วนของหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่มีความชัดเจนขึ้นภายหลังการออกกฤษฎีกาย่อยฉบับที่ 65 (Sub-decree No.65) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยเป็นการกำหนดกลไกในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่มีถิ่นที่อยู่หรือสถานประกอบการในกัมพูชาที่ขายสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัล*ให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่ในกัมพูชา ซึ่งจุดประสงค์หลักเป็นการเน้นไปที่การเรียกเก็บ VAT กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยมีสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้

หมายเหตุ : * อาทิ ซอฟต์แวร์และบริการเกี่ยวเนื่อง บริการช่องทางขายสินค้าออนไลน์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ออนไลน์ บริการด้านข้อมูล และสื่อบันเทิงผ่านระบบ Streaming

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตั้งแต่ปี 2565 ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในกัมพูชา และประกอบกิจการขายสินค้าและบริการดิจิทัลให้กับผู้ซื้อหรือผู้ใช้ในกัมพูชา หรือเรียกว่า “Non-resident E-supplier” ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับ General Department of Taxation (GDT) ของกัมพูชา ภายใน 30 วัน หากเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • มียอดขายมากกว่า 62,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
  • มียอดขายมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน

โดยค่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว Non-resident E-supplier จะได้รับเอกสาร ดังต่อไปนี้

  • ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับย่อ (Simplified VAT Registration Certificate)
  • ใบทะเบียนอากร (Tax Registration Certificate)
  • หนังสือแจงแนวปฏิบัติทางภาษี (Notice on Tax Compliance)

อย่างไรก็ตาม หาก Non-resident E-supplier มีเจตนาหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หน่วยงานด้านภาษีของกัมพูชาสามารถดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับ Non-resident E-supplier ดังกล่าวและจะประเมินภาษีที่คาดว่ายังไม่ได้รับชำระ พร้อมกับเรียกค่าปรับและดอกเบี้ย ซึ่งภายใต้กฎหมายของกัมพูชา การกระทำการใดๆ ที่ขัดขวางกฎหมายภาษีต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ราว 1,250 - 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และ/หรือจำคุกตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ปี

Non-resident E-supplier สามารถจ้างสำนักงานบัญชีตัวแทน (Tax Agent) ที่จดทะเบียนในกัมพูชาเพื่อดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับ GDT เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในขั้นตอนการจดทะเบียน

การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในกัมพูชาแล้ว Non-resident E-supplier จะต้องออกใบกำกับภาษี (Tax Invoice) ในแต่ละธุรกรรมที่ทำกับผู้บริโภคในกัมพูชา ซึ่งรวมทั้งการทำธุรกรรมในรูปแบบ B2C Transaction (Business to Consumer) และ B2B (Business to Business) สำหรับแนวทางการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

  • B2C Transaction (Business to Consumer) Non-resident E-supplier ที่ขายสินค้าหรือให้บริการดิจิทัลแก่ลูกค้าในกัมพูชาจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ของมูลค่าธุรกรรมให้แก่ GDT ทุกเดือน ภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป
  • B2B Transaction (Business to Business) สำหรับกรณีที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการดิจิทัลเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีในกัมพูชา กฎหมายกัมพูชาภายใต้กลไก Reverse Charge Mechanism** กำหนดให้ผู้ซื้อดังกล่าวต้องเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ของมูลค่าธุรกรรมแก่ GDT ทุกเดือน ภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไปอยู่แล้ว ไม่ว่า Non-resident E-supplier จะจดทะเบียนหรือไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในกัมพูชาก็ตาม โดย Non-resident E-supplier มีหน้าที่แสดงรายการดังกล่าวแยกออกมาต่างหากในใบเสร็จรับเงินเท่านั้น

หมายเหตุ : ** เป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับระบบการจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ผู้ประกอบการที่มีรายได้และจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีในกัมพูชา หากต้องชำระเงินค่าสินค้าและบริการให้แก่ผู้ที่ไม่มีถิ่นพำนักในกัมพูชา ผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องหักและชำระภาษี ณ ที่จ่ายในนามของผู้ประกอบการเอง

ผลกระทบของมาตรการเรียกเก็บภาษี VAT จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

การออกกฎหมายภายใต้ Sub-decree No.65 และ Prakas 542 MEF.P ของกัมพูชาสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกที่เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากต่างชาติที่ได้เงินค่าบริการจากผู้บริโภคในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการรั่วไหลในการจัดเก็บภาษี ซึ่งปัจจุบันมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกมีการดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทั้งนี้ มาตรการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างชาติบางรายอาจปรับเพิ่มค่าบริการเพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนภาษีที่ถูกเรียกเก็บ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาและมียอดขายถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจำเป็นต้องให้ความสำคัญและศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าวให้เป็นอย่างดี เพื่อจะได้วางแผนจัดการด้านภาษีอย่างถูกต้อง รวมถึงเพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีของกัมพูชา

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว

    ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...

    calendar icon31.03.2020
Tag
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview