ส่องเทรนด์โลก

ไขรหัสปริศนา 2-0-2-3...รับมือเศรษฐกิจปีกระต่าย

ปีเสือที่ผ่านมาโลกได้เผชิญกับความท้าทายในหลากหลายมิติ ท่ามกลางความพยายามในการฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเข้าสู่ปีกระต่าย คงต้องยอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อข้ามปี ปัญหาเงินเฟ้อสูง และผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในหลายประเทศ ขณะที่ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 (คาดการณ์ ณ เดือนตุลาคม 2565) จะขยายตัวเพียง 2.7% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 3.2% ในปี 2565 นับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี (ไม่รวมช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ) โดยมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในทิศทางที่แย่ลงกว่าคาดการณ์เดิมหรือที่เรียกว่า Downside Risk ลงเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 เหลือขยายตัวเพียง 1.7% อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกในปีกระต่ายดูเหมือนจะไม่สดใสนักจากหลายปัจจัยฉุดรั้ง แต่ยังมีประเด็นโอกาสและความท้าทาย รวมถึงกระแสสำคัญอื่นๆ ที่น่าติดตามในปีนี้ ซึ่งสามารถมองผ่านในบริบทของปี ค.ศ. 2-0-2-3 ได้ดังนี้

“2”… 2 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“2” ตัวแรก คือ 2 เครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ สวนทางกับเครื่องยนต์เดิมอย่างการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดย IMF คาดการณ์ (ณ เดือนตุลาคม 2565) ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.7% ต่อเนื่องจาก 2.8% ในปี 2565 โดยมีแรงส่งจาก 2 เครื่องยนต์หลัก ดังนี้

  • ภาคท่องเที่ยว ซึ่งได้รับอานิสงส์จากปรากฏการณ์ Revenge Travel หรือการที่นักท่องเที่ยวเริ่มออกเดินทางอย่างต่อเนื่อง หลังจากอัดอั้นกันมาตลอดในช่วง COVID-19 ระบาดรุนแรง และจากการสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าต้องรีบท่องเที่ยว แม้ต้นทุนการเดินทางจะเพิ่มขึ้น เพราะในอนาคตอาจเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถท่องเที่ยวได้อีก จึงทำให้ตัดสินใจเดินทางทันที ซึ่งคาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคน จากราว 11 ล้านคนในปี 2565 นอกจากนี้ การที่จีนเริ่มเปิดประเทศก็ยิ่งทำให้กระแส Revenge Travel เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก และขนส่ง
  • การบริโภคในประเทศ ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

“0”… ภารกิจสู่ Zero (Emissions)

“0” คือ ภารกิจสู่ Zero (Emissions) เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emissions เป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้า Net Zero Emissions ไว้ภายในปี 2608 ซึ่งสำหรับภาคธุรกิจ การวางกลยุทธ์ให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ และการรุกลงทุนในเทรนด์ธุรกิจใหม่ อาทิ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า  และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังควรเตรียมกลยุทธ์ในเชิงรับเพื่อรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อาทิ มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของ EU ซึ่งเตรียมเริ่มบังคับใช้ระยะแรกในช่วง Transitional Period ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 กับกลุ่มสินค้าเบื้องต้น ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า

“2”… โลก 2 ขั้ว (Decoupling)

2” ตัวถัดมา คือ โลกถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว (Decoupling) ชัดเจนและทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งนำโดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรป ขณะที่อีกด้านหนึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย โดยการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จีนได้ยื่นฟ้อง WTO ในกรณีสหรัฐฯ กีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ผลิตจากสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง สะท้อนให้เห็นถึงความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่มีมาตั้งแต่ปี 2561 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนมาถึงปัจจุบันที่อาจเรียกได้ว่า “Trade War 2.0” ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ไปสู่การพึ่งพากันในระดับภูมิภาค (Regionalization) และกลุ่มประเทศที่มีความคิดเห็นทางการเมืองคล้ายกัน (Friend Shoring) มากขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรการกีดกันทางการค้าและสงครามราคายังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและจับตาเป็นพิเศษต่อไป

“3”… Top 3 Rising Star

“3” ตัวสุดท้าย คือ Top 3 Rising Star ของปี 2566 ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย จากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคในปี 2566 พบว่าตลาดประเทศเกิดใหม่ในเอเชียเป็นตลาดที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย โดย IMF คาดการณ์ (ณ เดือนตุลาคม 2565) ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 6.2% 6.1% และ 5.0% ตามลำดับ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

  • เวียดนาม เศรษฐกิจเติบโตโดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย จากการมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง
  • อินเดีย เศรษฐกิจมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ขยับ Ranking สู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แซงหน้าสหราชอาณาจักร
  • อินโดนีเซีย ได้รับความสนใจจากการปฏิรูปกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนมากขึ้น

จากปัจจัยข้างต้น จึงนับเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายโอกาสการค้าการลงทุนไปยังประเทศดังกล่าวภายใต้ภาวะเศรษฐกิจประเทศตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปีกระต่ายที่มีความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการอาจเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมแผนสำรองไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางธุรกิจ โดยเฉพาะแหล่งเงินสำรองเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจรผ่านเครื่องมื่อต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อที่จะไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตลอดจนอาจมีการทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • รู้จักไฮโดรเจน…พลังงานทางเลือกแห่งอนาคตเพื่อลดโลกร้อน

    แม้การประชุม COP27 จะจบลงด้วยบทสรุปที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก แต่ประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานฟอสซิลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำ...

    calendar icon30.11.2022
  • ธุรกิจเวียดนาม Go Green … Golden Opportunity ของผู้ประกอบการไทย

    เวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วลำดับต้นๆ ของโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 5% ติดต่อกันตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี โดยภาคการผลิตของเวียดนามที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เวียดนามมีอ...

    calendar icon31.05.2022
Most Viewed
more icon
  • Gen Z กับทิศทางตลาดอาหารโลก

    กลุ่ม Gen Z (Generation Z) คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังปี 2543 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปี Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่หลายธุรกิจเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มประ...

    calendar icon24.04.2019
  • ทำความรู้จัก Telemedicine... เทรนด์ธุรกิจเติบโตดีหลัง COVID-19

    การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มทดลองใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine มากขึ้น เพราะบริการดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้แม้อยู่คนละที่กับผู้ป่วย ...

    calendar icon31.08.2020
  • เกาะติดกระแสการค้าสินค้าออนไลน์ในกัมพูชา

    กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน แม้การค้าส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม แต่การค้าในรูปแบบของ e-Commerce ก็มีการเติบโตโดดเด่นและเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อ...

    calendar icon31.10.2018
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview