รู้ทันเกมการค้า

ใส่ใจการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า...ป้องกันถูกมือดีคว้าไปครอบครอง

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค คือ เครื่องหมายการค้า (Trademark)  หากสินค้านั้นติดเครื่องหมายการค้าที่ผู้บริโภคคุ้นเคย หรือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงก็จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้านั้นได้ง่ายขึ้น เครื่องหมายการค้าจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจที่มักจะได้ยินข่าวการละเมิดเครื่องหมายการค้า  โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับความนิยม

บ่อยครั้งที่พบว่าการละเมิดเครื่องหมายการค้าเกิดจากคนใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง และเพื่อให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงขอสมมติให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดเครื่องหมายการค้ากับ “นายชอบค้า” ผู้ส่งออกไทยที่สนใจนำสินค้าของตนเข้าไปเปิดตลาดในประเทศ A โดยเริ่มจาก “นายชอบค้า” ทราบมาว่าที่ผ่านมาสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมมากในประเทศ A มักจะถูกปลอมแปลงและเลียนแบบทั้งตัวสินค้าและเครื่องหมายการค้า “นายชอบค้า” จึงตั้งใจจะไปจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของสินค้าที่ตนจะไปวางจำหน่ายในประเทศ A ให้เรียบร้อยก่อนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม  “นายชอบค้า” เห็นว่าการเดินทางไปประเทศ A เพื่อทำเรื่องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยตนเองเป็นเรื่องยุ่งยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะอาจจะต้องเดินทางไปๆ มาๆ หลายครั้งกว่าจะแล้วเสร็จ “นายชอบค้า” จึงตัดสินใจทำเอกสารมอบฉันทะให้แก่หุ้นส่วนในประเทศ A เป็นตัวแทนดำเนินเรื่องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศ A ให้เรียบร้อยแทน เมื่อทุกอย่างพร้อม “นายชอบค้า” จึงนำสินค้าไปวางจำหน่ายในประเทศ A ซึ่งได้รับผลตอบรับดีตามที่คาดไว้ ทำให้เครื่องหมายการค้านี้ติดตลาดอย่างรวดเร็ว แต่ผ่านไปไม่นาน “นายชอบค้า” กับหุ้นส่วนเริ่มมีปัญหากัน ทำให้ “นายชอบค้า” ตัดสินใจยกเลิกการทำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วนรายนี้ และในช่วงเวลานี้เองที่ “นายชอบค้า” เพิ่งจะทราบว่าตนเองไม่สามารถใช้เครื่องหมายการค้านี้ในประเทศ A ได้ เนื่องจากตอนที่ “นายชอบค้า” มอบหมายให้หุ้นส่วนไปดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแทนนั้น หุ้นส่วนได้ฉวยโอกาสจดทะเบียนให้ตนเองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศ A ทำให้สิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตกเป็นของหุ้นส่วนรายนี้ แทนที่จะเป็นสิทธิ์ของ “นายชอบค้า”  ผลกระทบที่ตามมาก็คือ หาก “นายชอบค้า” ต้องการจำหน่ายสินค้าเดิมในประเทศ A ต่อก็ต้องเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าใหม่ไม่ให้ซ้ำกับเครื่องหมายการค้าเดิม หรือต้องฟ้องร้องเพื่อให้ได้เครื่องหมายการค้าเดิมของตนเองกลับคืนมา

ทั้งนี้ การถูกผู้อื่นแย่งสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าไปครอบครองไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าตัวจริงต้องสูญเสียตลาดให้กับผู้อื่น แต่ยังต้องเสียเวลาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าใหม่ให้เป็นที่รู้จัก และที่น่าหนักใจมากขึ้นไปอีก คือ หากผู้ที่ฉกฉวยเครื่องหมายการค้าไปไม่รักษามาตรฐานคุณภาพสินค้า ก็จะทำให้เจ้าของเดิมมีค่าใช้จ่ายเพื่อกู้ภาพลักษณ์ที่เสียไปกลับคืนมาอีก เพราะภาพลักษณ์ที่ไม่ดีย่อมมีผลด้านลบต่อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกันนี้ที่วางจำหน่ายในประเทศอื่นๆ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกผู้อื่นฉวยเครื่องหมายการค้าไปครอบครอง ผู้ประกอบการควรเข้าไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยตนเอง หรือมีการทำข้อตกลงเป็นสัญญาให้ชัดเจนกับผู้ที่ท่านมอบหมายให้ไปจดทะเบียนแทนว่าสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้านี้เป็นของท่าน โดยท่านสามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตั้งแต่ยังไม่มีสินค้าเข้าไปจำหน่ายในประเทศนั้น

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศที่จะนำสินค้าไปวางจำหน่ายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตระหนักถึงแต่อาจยังลังเลในการลงมือ เพราะหากรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าเสียเวลาในการดำเนินเรื่องแล้ว นับเป็นเงินจำนวนไม่น้อย แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันมีวิธีการที่สะดวกกว่ามาก คือ  การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด โดยท่านสามารถยื่นคําขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของหลายประเทศที่เป็นสมาชิกพิธีสารมาดริด (มีจำนวน 102 ประเทศ อาทิ สหรัฐฯ กัมพูชา และ สปป.ลาว) พร้อมกันด้วยเอกสารเพียง 1 ฉบับ ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ของไทย  ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะเพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลาในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ และช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ถูกตัวแทนฉกฉวยสิทธิ์เครื่องหมายการค้าไปครองอย่างกรณีที่เกิดกับ “นายชอบค้า” ได้อีกด้วย

 

 

Related
more icon
  • เตือนภัยไซเบอร์...รับมือ Hacker จู่โจม

    Hacker เป็นภัยร้ายที่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ระบาด เนื่องจากผู้ซื้อและผู้ขายเปลี่ยนมาติดต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ตแทน จึงเปิดช่องให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น...

    calendar icon30.11.2020
  • หา Supplier ใหม่อย่างไรไม่เพิ่มความเสี่ยงในภาวะวิกฤต COVID-19

    การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) นอกจากส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของธุรกิจในระดับมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป โดยหนึ่งในลักษณะของธุรกิจที่มักจะได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ผู้ประกอบ...

    calendar icon30.04.2020
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview