Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- สหรัฐฯ แถลงการณ์ว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน หลังจากเงินหยวนเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 11 ปี
- การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นทั้งมาตรการเพื่อตอบโต้และบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าระลอกใหม่ ส่งผลให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังยากจะยุติลงได้โดยเร็ว
- เงินหยวนที่อ่อนค่าส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นซึ่งกดดันอำนาจซื้อของผู้บริโภคชาวจีนและบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย โดยสินค้าได้รับผลกระทบที่รุนแรงแตกต่างกัน
-
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ แถลงการณ์ว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน โดยระบุว่าจีนมีการแทรกแซงเพื่อให้เงินหยวนมีค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และล่าสุดจีนได้ใช้มาตรการเชิงรุกด้วยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอีก หลังจากในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เงินหยวนเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ทางการจีนประกาศจะให้ภาครัฐและภาคเอกชนของจีนระงับการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ในอัตรา 10% สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณการยกระดับจากสงครามการค้าไปสู่สมรภูมิค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทและภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
เงินหยวนอ่อนค่า…มาตรการตอบโต้ของจีน
- จีนตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง โดยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ธนาคารกลางจีนประกาศอัตราอ้างอิงเงินหยวนที่ระดับ 6.9225 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ค่าเงินหยวนหลุดระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 05 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 11 ปี และถัดมาธนาคารกลางจีนยังคงประกาศอัตราอ้างอิงเงินหยวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 7.0039 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะยังชี้นำให้เงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่าลง นอกจากนี้ Nomura Securities คาดการณ์ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าแตะระดับ 7.2 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 ปี 2562 ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นทั้งมาตรการเพื่อตอบโต้และบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าที่ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10% ในกลุ่มสินค้าที่เหลือทั้งหมดที่ยังไม่เคยถูกเก็บภาษีในสงครามการค้า คิดเป็นมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562
- สหรัฐฯ ตอบโต้ทันทีด้วยการประกาศให้จีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งตาม Trade Facilitation and Trade Enforcement Act 2015 ได้กำหนดให้ประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน มีเวลา 1 ปี ในการดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ค่าเงินร่วมกัน มิเช่นนั้น สหรัฐฯ จะใช้มาตรการลงโทษอื่นตามมา อาทิ การห้ามหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จัดซื้อสินค้าและบริการจากประเทศนั้น และ/หรือ ห้ามไม่ให้คณะกรรมการบริหารแห่งบรรษัทการลงทุนเอกชนในต่างประเทศ (Overseas Private Investment Corporation : OPIC) ของสหรัฐฯ พิจารณาให้เงินสนับสนุนการลงทุนในประเทศนั้น เป็นต้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ เคยประกาศให้จีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินมาแล้วในปี 2537 ก่อนจะยกเลิกในเวลาต่อมาเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน
ความคิดเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ
- ความกังวลต่อสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้น สังเกตได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีความรุนแรงและซับซ้อนในหลายมิติมากกว่าในอดีต เห็นได้จากการเจรจาการค้าที่ยืดเยื้อยาวนานหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติสงครามการค้าได้ และกลับลุกลามบานปลายสู่สงครามค่าเงินที่ยากจะยุติลงได้ในเร็ววัน อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การใช้มาตรการตอบโต้อื่นๆ ในระยะถัดไป ได้แก่
- จีนอาจใช้มาตรการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มาเป็นอาวุธในสมรภูมิครั้งใหม่ โดยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมากจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นและจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอื่นๆ อาทิ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลปรับขึ้นตาม เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอัตราอ้างอิงสำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทในสหรัฐฯ ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ผ่านการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สหรัฐฯ อาจเดินหน้าสู่สงครามค่าเงินเต็มอัตรา โดยใช้การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเครื่องมือในการตอบโต้จีนเช่นกัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์มักออกมากล่าวว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเกินไปและต้องการให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเพื่อให้สินค้าสหรัฐฯ แข่งขันได้มากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในระยะถัดไป เพื่อกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงตาม
- ความขัดแย้งที่ลุกลามสู่สมรภูมิค่าเงินจะกระทบต่อผู้ประกอบการไทยทั้งจากการที่ค่าเงินบาทจะผันผวนมากขึ้นตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่หวั่นวิตกกับ
ความไม่แน่นอนของมาตรการตอบโต้ระหว่างกันของสหรัฐฯ กับจีน และเงินบาทต่อ
เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นตามทิศทางของเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ซึ่งกดดันอำนาจซื้อของผู้บริโภคชาวจีนและบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ซึ่งจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่
- สินค้าไทยที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญ การอ่อนค่าของเงินหยวนทำให้สินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยมีราคาสูงขึ้นในสายตาของผู้ซื้อชาวจีน และนำมาสู่การลดปริมาณนำเข้า หรือขอต่อรองลดราคาซื้อลง ซึ่งล้วนทำให้ผู้ส่งออกไทยมีรายได้ลดลง ทั้งนี้ หากสินค้านั้นไทยพึ่งพาตลาดจีนมากแรงกดดันย่อมสูงตาม สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่พึ่งพาตลาดจีนในระดับสูง ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์
เครื่องคอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า - บริการในประเทศไทยที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีน ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร เนื่องจากคาดว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้นจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนชะลอการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศลง
- สินค้าไทยที่มีจีนเป็นคู่แข่งสำคัญ การที่เงินหยวนอ่อนค่า ส่งผลให้สินค้าจีนมีราคาถูกลงกว่าเดิมในสายตาของผู้นำเข้า จึงมีความได้เปรียบด้านราคามากขึ้น สำหรับสินค้าไทยที่อาจถูกจีนแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดโลก ซึ่งรวมถึงตลาดในประเทศไทย หากเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่จีนมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ค่อนข้างสูง จึงน่าจะเป็นสินค้าที่จีนมีศักยภาพในการแข่งขันและสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ในช่วงที่เงินหยวนอ่อนค่า
สำหรับธุรกิจไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์หากเงินหยวนอ่อนค่า ได้แก่ Trader ที่นำเข้าสินค้าจากจีน เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกลง และผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตสินค้าในจีนเพื่อส่งออกไปตลาดอื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ เพราะราคาสินค้าจีนที่ลดลง จะทำให้ความต้องการสินค้าจีนมีเพิ่มขึ้น
ที่เกี่ยวข้อง
-
จับสัญญาณเศรษฐกิจจีนปี 2565 ... ชะลอตัวท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง
ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4 ปี 2564 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ขณะที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณเร่งเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต แม้เศรษฐกิจจีนปี 2565 ยังขยายตัวจากการเร่งดำเนินมาตรการกระตุ...
27.01.2022 -
ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในจีน…บั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและการส่งออกไทย
ประเด็นสำคัญ จีนเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้า และหลายมณฑลต้องปันส่วนการใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในจีนจะบั่นทอนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ซึ่...
01.10.2021
-
ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน กระทบเศรษฐกิจจีน กระเทือนถึงไทย
KEY TAKEAWAYS บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซา ปัญหาภาคอสังหาฯ ส่งผลกระทบให้รายได้ธนาคารลดลงและ NPLs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สถานะโดยรวมยังแข็งแกร่ง แนวโน้มเศร...
09.10.2023 -
CLMV Snapshot Q1/2565
CLMV Snapshot : Update ความเคลื่อนไหวและข่าวน่าสนใจใน CLMV เป็นรายไตรมาส
01.04.2022 -
มองผลกระทบหลังรัสเซียเปลี่ยนกลไกการชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล
ประเด็นสำคัญ รัสเซียออกกฎหมายให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตร โดยเฉพาะ EU ต้องจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล โดยบังคับให้ผู้ซื้อต้องเปิดบัญชีพิเศษสำหรับการทำธุรกรรมจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ ความเคล...
13.04.2022