Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- สมเด็จฯ ฮุน เซน จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ตามคาดหมาย หลังพรรค CPP ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น
- ต้องจับตาท่าทีของสหรัฐฯ และ EU ว่าจะมีการดำเนินมาตรการใดต่อกัมพูชาหรือไม่ โดยฝ่ายวิจัยธุรกิจยังคงความเห็นเดิมว่ากัมพูชาไม่น่าจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี
- คาดว่ารัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุน เซน จะดำเนินนโยบายประชานิยมตามที่หาเสียงไว้ ทั้งปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานและลดค่าไฟฟ้า รวมทั้งสานต่อนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน
- สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความแน่นอนมากขึ้นจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา แต่การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างจะกระทบต่อผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่ขยายฐานการผลิตไปกัมพูชา
-
พรรค Cambodian People's Party (CPP) ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น
ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 โดยคาดว่าจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 100 ที่นั่ง จากทั้งหมด 125 ที่นั่ง เนื่องจากไร้คู่แข่งสำคัญ คือ พรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) ซึ่งถูกสั่งยุบพรรคไปเมื่อปลายปี 2560 ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2561 โดยชัยชนะของพรรค CPP จะทำให้สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย นับเป็นผู้นำที่ปกครองประเทศยาวนานกว่า 30 ปีจับตาท่าทีสหรัฐฯ และ EU หลังการเลือกตั้งกัมพูชา
สหรัฐฯ และ EU ต่างออกมาประณามการเลือกตั้งดังกล่าวว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องจับตาท่าทีของสหรัฐฯ และ EU ว่าจะมีการดำเนินมาตรการใดต่อกัมพูชาหรือไม่ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยธุรกิจยังคงความเห็นเดิมจากที่เคยได้วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ว่ากัมพูชาไม่น่าจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหรัฐฯ และ EU เนื่องจากสถานการณ์ในกัมพูชายังไม่รุนแรงเหมือนหลายประเทศที่เคยถูกสหรัฐฯ และ EU คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและตัดความสัมพันธ์ทางการค้า แต่อาจถูกระงับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหรัฐฯ ในบางโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านมนุษยธรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกัมพูชาไม่มากนัก แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายสุด (โอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย) ซึ่งกัมพูชาอาจถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหรัฐฯ และ EU จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออก 3 กลุ่มสำคัญ คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และข้าว ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 77% ของมูลค่าส่งออกรวมของกัมพูชา
ส่องทิศทางนโยบายสำคัญของรัฐบาลกัมพูชา
คาดว่ารัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฯ ฮุน เซน จะเร่งดำเนินนโยบายประชานิยมตามที่หาเสียงไว้ รวมทั้งยังคงดำเนินโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเหมือนกับในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
- ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ และรองเท้า จาก 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในปัจจุบัน เป็น 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ภายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 47% เพื่อเสริมสร้างสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว
- ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนกัมพูชา รวมทั้งช่วยลดต้นทุน ของภาคธุรกิจ เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าของกัมพูชาถือว่าอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน โดยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของครัวเรือนในกรุงพนมเปญอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (เทียบกับไทยที่ 0.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแผนดังกล่าว
- สานต่อนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมากัมพูชาจัดว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก อาทิ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100% ในเกือบทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินได้ 50 ปี และสามารถขอต่ออายุได้อีกสูงสุด 50 ปี ล่าสุดในช่วงปี 2559 - 2561 รัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศผู้ลงทุนหลักหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย และไทย และอยู่ระหว่างการเจรจากับอีกหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย และเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนในกัมพูชาให้มากยิ่งขึ้น
- เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับมหามิตร อย่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจสำคัญที่ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งสองชาติขยายการลงทุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กัมพูชาต่อไป ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกัมพูชาและเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินรายสำคัญของกัมพูชา ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ให้ ODA* แก่กัมพูชามากเป็นอันดับ 2 (สัดส่วน 20% ของ ODA ที่กัมพูชาได้รับ) รองจาก EU ขณะเดียวกัน สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังประกาศให้คำมั่นที่จะรักษาสันติภาพบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรระหว่างกัน ท่ามกลางท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของสหรัฐฯ และ EU ที่ไม่พอใจที่กัมพูชามีการยุบพรรคการเมืองคู่แข่งสำคัญของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง จนทำให้สหรัฐฯ และ EU มีข้อกังขาถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งในครั้งนี้ รวมทั้งยังตัดเงินช่วยเหลือการจัดการเลือกตั้งที่เคยให้แก่กัมพูชา
ผลกระทบต่อไทย
- การเมืองกัมพูชาที่มีความชัดเจนขึ้นส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในกัมพูชา ขณะที่นโยบายรักษาสันติภาพบริเวณชายแดนน่าจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ปัจจุบันเป็นช่องทางการค้าสำคัญมีสัดส่วนกว่า 60% ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งผู้ประกอบการทั้งสองประเทศมักมีความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทปราสาทพระวิหารที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
- การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ในปี 2566 จากปัจจุบัน 170 ดอลลาร์สหรัฐ
ต่อเดือน หรือปรับขึ้นราว 8% ต่อปี คาดว่าจะสร้างภาระต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จ ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ขยายฐานการผลิตในกัมพูชาจำเป็นต้องเตรียมรับมือและบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไม่มากนักอย่าง โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า -
Note : * ODA = Official Development Assistance หรือความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ ซึ่งกัมพูชาถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาภายใต้ ODA ทั้งนี้ ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า ODA มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของแหล่งเงินทุนสำหรับงบประมาณรายจ่ายภาครัฐของกัมพูชาในปี 2558
ที่เกี่ยวข้อง
-
CLMV Snapshot Q1/2565
CLMV Snapshot : Update ความเคลื่อนไหวและข่าวน่าสนใจใน CLMV เป็นรายไตรมาส
01.04.2022 -
ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19
ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒ...
12.05.2021
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019