Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- จีนเริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลแทนเงินสดในการจับจ่ายและชำระค่าสินค้าได้ตามกฎหมาย
- เงินหยวนดิจิทัลจะช่วยส่งเสริมการเข้าสู่ Cashless Society ของจีน และเป็นความหวังของจีนในการผลักดันเงินหยวนสู่การเป็นเงินสกุลสากล ท้าทายอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐ
- สำหรับผู้ประกอบการไทย เงินหยวนดิจิทัลถือเป็นการเพิ่มทางเลือกใน
การทำธุรกิจของ SMEs รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่มีชาวจีนเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ - เงินหยวนดิจิทัลอาจลดบทบาทของสถาบันการเงินในการเป็นตัวกลางการโอนเงินระหว่างประเทศลง
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้เริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลใน 4 เมืองสำคัญที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี คือ เซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และสงอัน ด้วยการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างบางส่วนในรูปแบบของเงินหยวนดิจิทัลให้แก่ข้าราชการและพนักงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปใช้แทนเงินสดในการจับจ่ายและชำระค่าสินค้าในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง ซึ่งรวมถึงร้านค้าชั้นนำอย่าง Starbucks McDonald’s และ Subway เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในช่วงของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในปี 2565 ทั้งนี้ เงินหยวนดิจิทัลคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อบทบาทของเงินหยวนในตลาดการเงินโลก รวมถึงไทย ล้วนเป็นประเด็นที่น่าติดตาม
เงินหยวนดิจิทัลคืออะไร และมีลักษณะสำคัญอย่างไร?
- เงินหยวนดิจิทัล หรือ e-RMB ถือเป็นเงินดิจิทัลสกุลหนึ่งที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ (Central Bank Digital Currency : CBDC) 1 หยวนดิจิทัล มีมูลค่าเท่ากับ 1 หยวนปกติ และสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเหมือนธนบัตรเงินหยวนทั่วไปทุกประการ อีกทั้งกฎหมายจีนยังห้ามมิให้ผู้ใดปฏิเสธการรับชำระด้วยเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งแตกต่างจากเงินดิจิทัลประเภท Cryptocurrency ซึ่งเป็นเงินที่ยังไม่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ
- ธนาคารกลางจีนเป็นผู้ออกเงินหยวนดิจิทัลแต่เพียงผู้เดียว โดยในช่วงทดลองใช้จะมีการกระจายเงินหยวนดิจิทัลผ่านธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ Bank of China, Agricultural Bank of China, Industrial and Commercial Bank of China และ China Construction Bank โดยอาจมีผู้ให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติม
- เทคโนโลยีที่ใช้สำหรับเงินหยวนดิจิทัล จากข้อมูลที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการระบุว่า ผู้ใช้เงินหยวนดิจิทัลต้องใช้แอพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ โดยจะเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้จ่ายค่าสินค้าและค่าบริการในรูปแบบต่างๆ อาทิ Contactless Payment ซึ่งเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือสัมผัสกับเครื่องรับชำระค่าสินค้า นอกจากนี้ ยังสามารถโอนเงินระหว่างกันโดยไม่ต้องผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Offline) ได้อีกด้วย
บทบาทของหยวนดิจิทัลที่จีนคาดหวังไว้
- เงินหยวนดิจิทัลจะช่วยส่งเสริมการเข้าสู่ Cashless Society ของจีน ให้เข้มข้นขึ้นจากปัจจุบันผู้บริโภคจีนกว่า 90% มีการใช้จ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่แล้ว โดยเฉพาะ Alipay และ WeChat Pay ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อจากธนบัตร ยิ่งทำให้ความนิยมในการใช้เงินสดลดลงไปอีก ดังนั้น ปริมาณเงินส่วนหนึ่งที่หมุนเวียนในระบบของจีนจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปเงินสดอีกต่อไป หากการพัฒนาหยวนดิจิทัลประสบความสำเร็จก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตธนบัตรและเหรียญของจีน ขณะเดียวกันธนาคารกลางจะสามารถกำกับดูแลธุรกรรมดิจิทัลได้มากขึ้นผ่านการติดตามข้อมูลเส้นทางการไหลเวียนของหยวนดิจิทัล อาทิ ใครเป็นผู้ให้หรือผู้รับ และเงินได้ถูกใช้ไปในธุรกรรมประเภทใด
- จีนหวังว่าความสำเร็จของเงินหยวนดิจิทัลจะผลักดันเงินหยวนสู่บทบาทการเป็นเงินสกุลสากล (International Currency) ท้าทายอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบการเงินโลก โดยหากเงินหยวนดิจิทัลประสบความสำเร็จจากการใช้จริงในระบบการเงินของจีนและสามารถพัฒนาต่อเนื่องไปยังการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ จะถือเป็นเงินดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดเมื่อเทียบกับเงินดิจิทัลประเภทอื่นที่ไม่มีธนาคารกลางของประเทศเป็นผู้สนับสนุน เงินหยวนดิจิทัลจึงเปรียบเสมือนอาวุธใหม่ของจีนในการแข่งขันกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ความคิดเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ
- การใช้เงินหยวนดิจิทัลจะช่วยให้เงินหยวนขยายบทบาทไปสู่การเป็นสกุลเงินระดับโลกได้สะดวกขึ้นผ่านตัวกลาง อาทิ การท่องเที่ยวของชาวจีนที่มีจำนวนมหาศาลไปยังทั่วทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งหากจีนสามารถวางแพลตฟอร์มการชำระเงินระหว่างประเทศของเงินหยวนดิจิทัลสำเร็จ ก็จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนทำหน้าที่เป็นผู้ถือเงินดิจิทัลดังกล่าวกระจายไปสู่ระบบการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการ Belt Road Initiative (BRI) ของจีน ซึ่งในอนาคตอาจได้เห็นการปล่อยเงินกู้โครงการ BRI เป็น
เงินหยวนดิจิทัล โดยรัฐบาลจีนจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินดังกล่าวถูกจ่ายไปยังบริษัทใด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีนที่ถูกวางไว้แต่แรก อีกทั้งยังตรวจสอบได้ว่าเงินมีการรั่วไหลไปยังที่ใดหรือไม่ หรืออาจรวมไปถึงการตรวจสอบการจัดเก็บค่าบริการจากโครงการลงทุนหากมีการใช้แพลตฟอร์มของหยวนดิจิทัลเป็นสื่อกลางใน
การจัดการข้อมูลทางการเงิน
ข้อสังเกต
-จีนจำเป็นต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายประการในการควบคุม
การเคลื่อนย้ายเงินหยวน รวมถึงเงินหยวนดิจิทัล อาทิ การควบคุมการนำเงินทุนเข้า-ออกจากจีน และการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Not fully convertible) เพื่อให้เงินหยวนดิจิทัลสามารถหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดการเงินโลกได้ง่ายขึ้น และมีความสะดวกคล่องตัวใกล้เคียงกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นสกุลเงินที่มีปริมาณหมุนเวียนอยู่ในตลาดการเงินโลกมากที่สุด
-ธุรกรรมทางการเงินส่วนหนึ่งอาจยังหลีกเลี่ยงการใช้เงินหยวนดิจิทัล เนื่องจากกังวลถึงการที่จีนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเส้นทางการเงินและเข้าถึงความลับทางการค้าได้
- สำหรับผู้ประกอบการไทย เงินหยวนดิจิทัลถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ไปจนถึงธุรกิจ SMEs ที่ทำการค้าขายกับจีนทั้งที่เป็นการค้าระหว่างประเทศแบบปกติและการค้าออนไลน์ นอกจากนี้ เชื่อได้ว่าการผลักดันสกุลเงินดิจิทัลของจีนจะเร่งให้ธนาคารกลางของประเทศตลาดหลักอื่นเริ่มหันมามองการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
- สำหรับธุรกิจธนาคาร เงินหยวนดิจิทัลนับเป็นความท้าทายที่อาจทำให้บทบาทของธนาคารในการเป็นตัวกลางโอนเงินระหว่างประเทศลดลงด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของ Cryptocurrency ได้สร้างช่องทางใหม่ในการโอนเงินระหว่างประเทศที่
ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบธนาคาร เพียงแต่ Cryptocurrency เป็นประเภทเงินดิจิทัลที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ในระดับสูงจากทั้งความไม่แน่นอนของมูลค่าและการรับรองทางกฎหมาย จึงทำให้ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายที่จะนำไปใช้โอนเงินระหว่างประเทศ ดังนั้น การที่เงินหยวนดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเงินดิจิทัลประเภทอื่น จึงเพิ่มโอกาสของการมีช่องทางการโอนเงินระหว่างประเทศที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบธนาคาร และถือเป็น
ความเสี่ยงที่สถาบันการเงินอาจจะถูกลดบทบาทในการเป็นตัวกลางของภาคการเงินระหว่างประเทศลง
ที่เกี่ยวข้อง
-
ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน กระทบเศรษฐกิจจีน กระเทือนถึงไทย
KEY TAKEAWAYS บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซา ปัญหาภาคอสังหาฯ ส่งผลกระทบให้รายได้ธนาคารลดลงและ NPLs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สถานะโดยรวมยังแข็งแกร่ง แนวโน้มเศร...
09.10.2023 -
ปัญหาขาดแคลนชิปยืดเยื้อต่อในปี 2565 ... ผลกระทบต่อผู้ผลิตในไทย
ประเด็นสำคัญ ปัญหาขาดแคลนชิปซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วราว 1 ปี ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อในปี 2565 จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีชิปเป็นส่วนประกอบ อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านต...
08.12.2021
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019