Hot Issues

ไข้หวัดนกระบาดในญี่ปุ่น ... โอกาสของผู้ส่งออกไทย

สถานการณ์สำคัญ

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ญี่ปุ่นเริ่มพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง (HPAI) ในฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มไก่เนื้อในจังหวัดคางาวะ (Kagawa) ทำให้ต้องกำจัดไก่ไข่และไก่เนื้อในฟาร์มที่มีการระบาด รวมถึงที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียง เพื่อควบคุมและยับยั้งการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม การระบาดดังกล่าวยังขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุดครอบคลุมพื้นที่ถึง 12 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัด หรือคิดเป็นพื้นที่ราวร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงพื้นที่จังหวัดมิยาซากิ (Miyazaki) ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงไก่ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องกำจัดไก่ไข่และไก่เนื้อรวมกันกว่า 3 ล้านตัว นับได้ว่าเป็นการระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกทุกชนิดจาก 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจากพื้นที่บางส่วนของเยอรมนี และสหรัฐฯ ซึ่งมีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนก (อีกสายพันธุ์หนึ่ง) เช่นเดียวกัน

   

ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ

ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่าการที่ญี่ปุ่น (ตลาดส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปอันดับ 1 ของไทย) กำจัดไก่ ทั้งไก่ไข่และไก่เนื้อ ไปหลายล้านตัว ประกอบกับญี่ปุ่นสั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากหลายประเทศ จะเป็นจังหวะให้ผู้ส่งออกไทยขยายตลาดไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปในญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการทำตลาดไข่ไก่ในญี่ปุ่น ดังนี้

ผู้ส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป คาดว่าจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นได้มากขึ้น สำหรับไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไทย (แหล่งนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งอันดับ 2 ของญี่ปุ่น) มีโอกาสขยายการส่งออก สวนทางกับตลาดที่ชะลอตัว เนื่องจากไทยมีโอกาสสูงในการเข้าไปแทนที่คู่แข่งที่กำลังเผชิญปัญหา COVID-19 ระบาดหนักอย่างบราซิล (แหล่งนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งอันดับ 1 ในญี่ปุ่นด้วยสัดส่วนสูงถึงราวร้อยละ 65) และสหรัฐฯ (แหล่งนำเข้าอันดับ 3) เห็นได้จากในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ญี่ปุ่นหันมานำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 (y-o-y) ขณะที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.9 และบราซิล ลดลงร้อยละ 5.8 ดังนั้น การที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาไข้หวัดนกจนญี่ปุ่นระงับการนำเข้าไก่จากบางพื้นที่ในสหรัฐฯ จึงยิ่งเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดของผู้ส่งออกไทย ขณะที่ไก่แปรรูป ไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในญี่ปุ่นอยู่แล้วที่ร้อยละ 64 ของมูลค่านำเข้าไก่แปรรูปทั้งหมดของญี่ปุ่น จึงมีโอกาสได้รับคำสั่งซื้อไก่แปรรูป โดยเฉพาะไก่ปรุงสุก ที่มีมากขึ้น จากการที่ชาวญี่ปุ่นบางส่วนหลีกเลี่ยงการนำเนื้อไก่ดิบจากพื้นที่เสี่ยงมาปรุงอาหาร สถานการณ์นี้คาดว่าจะช่วยลดผลกระทบจากยอดส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่ลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ (มูลค่าส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 3.7 (y-o-y))

ผู้ส่งออกไข่ไก่ อาจใช้จังหวะนี้เริ่มต้นเจาะตลาดญี่ปุ่น จากในอดีตที่ไทยเน้นส่งออกไปฮ่องกงเป็นหลัก โดยมีสัญญาณที่ดีจากการที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับไข่ไก่จากไทยเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าญี่ปุ่นจะหันมานำเข้าไข่ไก่บางส่วนจากไทยแทนแหล่งนำเข้าสำคัญ อาทิ เยอรมนี และสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญทั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกและการระบาดหนักของ COVID-19 จึงอาจเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไข่ไก่ของไทย

แม้มีความเป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นจะควบคุมและยับยั้งการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้ในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ แต่ความน่าสนใจของตลาดญี่ปุ่นยังมีต่อเนื่องถึงช่วงกลางปี 2564 ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา "โอลิมปิกฤดูร้อน 2020" ที่เลื่อนมาจากปี 2563 เนื่องจากผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่ไก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง รวมถึงไก่แปรรูป จะเป็นสินค้าอาหารลำดับต้นๆ ที่จะมีความต้องการบริโภคมากในญี่ปุ่นในช่วงดังกล่าว ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจึงควรเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้ทันกับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

Related
more icon
  • ปัญหาขาดแคลนชิปยืดเยื้อต่อในปี 2565 ... ผลกระทบต่อผู้ผลิตในไทย

    ประเด็นสำคัญ ปัญหาขาดแคลนชิปซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วราว 1 ปี ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อในปี 2565 จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีชิปเป็นส่วนประกอบ อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านต...

    calendar icon08.12.2021
  • ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19

    ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒ...

    calendar icon12.05.2021
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview