Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- ความเร็วในการฟื้นตัวของการกลับมาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนขึ้นกับการกระจายวัคซีน และความเข้มงวดของมาตรการควบคุม COVID-19 ของจีน
- นักท่องเที่ยวจีนเป็นความหวังของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลกหลังวิกฤต COVID-19 จากมูลค่าการใช้จ่ายและจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การท่องเที่ยวของไทยมีโอกาสฟื้นตัวแบบก้าวกระโดดในปี 2566 หลังจากนักท่องเที่ยวจีนและชาติตะวันตกทยอยกลับมาท่องเที่ยวในไทย แต่อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2567 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวถึงระดับก่อนวิกฤต COVID-19
สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council : WTTC) ประเมินความเสียหายของการท่องเที่ยวนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 สูงเกือบ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.5% ของ GDP โลก) ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงไทย ขณะที่ความหวังสำคัญในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย คือ การกลับมาของตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนถึง 30% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งล่าสุด The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ปัจจัยกำหนดการฟื้นตัว
- ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนทั้งในจีนและประเทศเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน (อาทิ ฮ่องกง มาเก๊า ไทย และญี่ปุ่น) โดย EIU คาดว่ารัฐบาลจีนจะกระจายวัคซีนแก่ประชากรได้ราว 60% ของประชากรทั้งหมดภายในไตรมาส 2 ปี 2565 ขณะที่ปัจจุบัน (วันที่ 30 พ.ค. 2564) รัฐบาลจีนกระจายวัคซีนแล้ว 621 ล้านโดส คิดเป็น 22% ของประชากรทั้งประเทศ โดยประชากรจีนที่มีภูมิคุ้มกันจะมีความมั่นใจในการเดินทางไปต่างประเทศ และเป้าหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนต้องเป็นประเทศที่กระจายวัคซีนได้เป็นวงกว้าง รวมถึงควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ได้ดี
- มาตรการของรัฐบาลจีนในการควบคุม COVID-19 ค่อนข้างเข้มงวดและเน้นป้องกันเชื้อจากต่างประเทศ ส่งผลให้การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีนอาจล่าช้ากว่านักท่องเที่ยวชาติตะวันตก โดยคาดว่าจีนจะยังควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศอย่างเข้มงวดจนถึงช่วงปลายปี 2565 โดยเฉพาะการกักตัวเมื่อกลับจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังชะลอการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศออกไป
คาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน
- จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ราวไตรมาสแรกของปี 2567 และใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ (เป็นระดับประมาณการกรณีไม่มี COVID-19 เกิดขึ้น) ภายในไตรมาส 4 ปี 2568 เนื่องจากนโยบายของจีนที่เน้นป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ ประกอบกับการกระจายวัคซีนในประเทศปลายทางที่ล่าช้า โดยเฉพาะประเทศรายได้ปานกลางและต่ำที่ประสบปัญหาการเข้าถึงวัคซีน ทำให้การกระจายวัคซีนเป็นวงกว้างอาจเลื่อนไปถึงปลายปี 2566 หรือช้ากว่านั้น
- ประเทศในเอเชียจะเป็นจุดหมายลำดับต้นของนักท่องเที่ยวจีน โดยหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันของรัฐบาลจีน นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มจะเดินทางไปประเทศที่ใกล้กับจีนและมีความปลอดภัยก่อน โดยจะพิจารณาตัวเลือกประเทศท่องเที่ยวจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา อัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูงจนถึงระดับการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ การมีบริการด้านการดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์ที่ดี รวมถึงความสะดวกของชาวจีนในการขอวีซ่าเข้าประเทศ ทั้งนี้ จุดหมายของนักท่องเที่ยวจีนหลัง COVID-19 ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย ไทย และมัลดีฟส์
- จีนอาจเริ่มผ่อนคลายมาตรการกักตัวจากผู้ที่เดินทางมาจากฮ่องกงและมาเก๊าก่อน เนื่องจากทั้งสองแห่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ซึ่งคาดว่าการยกเลิกดังกล่าวจะมีขึ้นในปลายปี 2565 หากฮ่องกงและมาเก๊าสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี
ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ
- นักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นความหวังของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโลก และไทยหลังวิกฤต COVID-19 ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากมูลค่าการใช้จ่ายและจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ตลาดนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ได้ค่อนข้างช้า โดยเป็นที่คาดว่าชาวจีนจะเริ่มทยอยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2566 หลังจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง
-
การท่องเที่ยวไทยมีโอกาสจะฟื้นตัวแบบก้าวกระโดดในปี 2566 หลังจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก ทั้งชาวจีนและชาติตะวันตกเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวไทย แต่ภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ก็ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายด้านแฝงอยู่ อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจยังไม่กลับไปสู่ระดับเกือบ 40 ล้านคนเช่นในปี 2562 ขณะที่ปริมาณห้องพักในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยหลายแห่งยังมีมากเกินความต้องการ
ที่เกี่ยวข้อง
-
จับสัญญาณเศรษฐกิจจีนปี 2565 ... ชะลอตัวท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง
ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4 ปี 2564 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ขณะที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณเร่งเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต แม้เศรษฐกิจจีนปี 2565 ยังขยายตัวจากการเร่งดำเนินมาตรการกระตุ...
27.01.2022 -
ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในจีน…บั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและการส่งออกไทย
ประเด็นสำคัญ จีนเผชิญภาวะขาดแคลนไฟฟ้า และหลายมณฑลต้องปันส่วนการใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในจีนจะบั่นทอนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ซึ่...
01.10.2021
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019