Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- China Evergrande Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องและอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
- หลายฝ่ายคาดว่าในเชิงโครงสร้างรัฐบาลจีนจะสามารถบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวได้ และคาดว่าผลกระทบจะไม่ลุกลามเป็นวงกว้างไปทั่วโลกเหมือนวิกฤตซับไพร์ม แต่จะส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินจีนและตลาดการเงินโลกในระยะสั้น
- รัฐบาลจีนมีแนวโน้มใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ในการแก้ปัญหา Evergrande รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการจัดระเบียบและควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะถัดไป
สถานการณ์ : China Evergrande Group ส่งสัญญาณผิดนัดชำระหนี้
- เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา China Evergrande Group หรือ Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน (ประเมินจากยอดจำหน่าย) แถลงว่ากำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องและอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยก่อนหน้านี้ Fitch Ratings ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของ Evergrande เป็น "CC" จาก "CCC+" ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ Evergrande มีหนี้รวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2% ของ GDP จีน) โดยหนี้ดังกล่าวมาจากการกู้ยืมธนาคาร 1 ใน 3 และ 2 ใน 3 เป็นการออกตราสารหนี้
- สาเหตุสำคัญของปัญหาหนี้ดังกล่าวมาจากการที่บริษัทกู้เงินเพื่อมาใช้ขยายธุรกิจเป็นจำนวนมากในโครงการอสังหาริมทรัพย์และใช้กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า สโมสรฟุตบอล เป็นต้น แต่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงวิกฤติ COVID-19
ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ
ในการประเมินผลกระทบเบื้องต้น หลายฝ่ายคาดว่าในเชิงโครงสร้างรัฐบาลจีนจะสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ และผลกระทบจะไม่ลุกลามเป็นวงกว้างไปทั่วโลกเหมือนวิกฤตซับไพร์ม แต่แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินจีนและตลาดการเงินโลกในระยะสั้น เนื่องจากมีการประเมินว่า Evergrande อาจเป็นธุรกิจเอกชนที่มีหนี้มากที่สุดของโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ ผลกระทบจากกรณีปัญหาหนี้ Evergrande มีรายละเอียดดังนี้
ผลกระทบต่อจีน : กระทบคู่ค้าและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
- ปัญหาทางการเงินของ Evergrande ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและ Suppliers ของบริษัทฯ โดยความสามารถในการชำระหนี้ของ Evergrande ที่ลดลงส่งผลให้คู่ค้าและ Suppliers ของบริษัทได้รับผลกระทบด้านสภาพคล่องตามไปด้วย
- หาก Evergrande ไม่สามารถแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องจนนำไปสู่การประกาศล้มละลาย จะส่งผลให้สถาบันการเงินและนักลงทุนที่ให้กู้หรือซื้อตราสารหนี้ของ Evergrande ได้รับความเสียหายตามกัน โดย Fitch Ratings คาดว่าธนาคารขนาดเล็กส่วนหนึ่งของจีนจะเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อภาคการเงินจีนทั้งระบบค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก
- ฐานะทางการเงินและเงินทุนสำรองของธนาคารจีนมีความแข็งแกร่ง โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารจีนอยู่ในระดับต่ำที่ 75% ณ เดือน มิ.ย. 2564 ขณะที่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ยังแข็งแกร่งที่ระดับ 14.48% ในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางฟื้นตัวแข็งแกร่งจากวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิด NPLs ต่อเนื่องในภาคธุรกิจอื่นไม่น่ากังวล
- เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 ทางการจีนได้อัดฉีดสภาพคล่องราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบการเงินของภาคธนาคาร เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องตึงตัวจากสถานการณ์ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande นับเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564
ผลกระทบต่อโลก : คาดว่าปัญหาจะไม่ลุกลามเป็นวงกว้างไปทั่วโลกเหมือนวิกฤตซับไพร์ม
- ปัญหาหนี้ Evergrande มีแนวโน้มจำกัดอยู่ในจีน และคาดว่าจะไม่ลุกลามไปทั่วโลกเหมือนวิกฤตซับไพร์ม เนื่องจากภาคการเงินจีนมีความแข็งแกร่งเพียงพอรองรับปัญหาหนี้ดังกล่าว อีกทั้งการพัฒนาตราสารอนุพันธ์ในตลาดการเงินจีนยังไม่หลากหลายและซับซ้อน แตกต่างจากสหรัฐฯ ในช่วงวิกฤตซับไพร์ม ซึ่งตลาดการเงินขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อและออกตราสารอนุพันธ์ทางการเงินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการออก CDO (Collateralized Debt Obligations) ซึ่งเป็นการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งเพื่อขายต่อให้นักลงทุน โดยสินทรัพย์ใน CDO นั้นครอบคลุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วย ส่งผลให้เมื่อเกิดปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินและผู้ลงทุนใน CDO จึงได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จนลุกลามจุดชนวนสู่วิกฤตการเงินซับไพร์มไปทั่วโลก
ที่เกี่ยวข้อง
-
ส่งออกทุเรียนไทยไปจีนเสี่ยงสูง…คู่แข่งตีตลาด-จีนปลูกได้เอง
ประเด็นสำคัญ ไทยส่งออกทุเรียนสดเพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่าตัวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยแทบทั้งหมดกระจุกตัวที่จีน ไทยเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้เวียดนามใน 3-4 ปีข้างหน้า หลังจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนา...
07.12.2022 -
จับสัญญาณเศรษฐกิจจีนปี 2565 ... ชะลอตัวท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง
ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4 ปี 2564 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ขณะที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณเร่งเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต แม้เศรษฐกิจจีนปี 2565 ยังขยายตัวจากการเร่งดำเนินมาตรการกระตุ...
27.01.2022
-
ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน กระทบเศรษฐกิจจีน กระเทือนถึงไทย
KEY TAKEAWAYS บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซา ปัญหาภาคอสังหาฯ ส่งผลกระทบให้รายได้ธนาคารลดลงและ NPLs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สถานะโดยรวมยังแข็งแกร่ง แนวโน้มเศร...
09.10.2023 -
CLMV Snapshot Q1/2565
CLMV Snapshot : Update ความเคลื่อนไหวและข่าวน่าสนใจใน CLMV เป็นรายไตรมาส
01.04.2022 -
ส่งออกทุเรียนไทยไปจีนเสี่ยงสูง…คู่แข่งตีตลาด-จีนปลูกได้เอง
ประเด็นสำคัญ ไทยส่งออกทุเรียนสดเพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่าตัวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยแทบทั้งหมดกระจุกตัวที่จีน ไทยเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้เวียดนามใน 3-4 ปีข้างหน้า หลังจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนา...
07.12.2022