บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เท่าที่ผมติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านของเรามาโดยตลอด ผมเห็นว่าในช่วงนี้ภาคธนาคารของเมียนมากำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่น่าจับตามอง ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีครับว่าเมียนมาอยู่ในช่วงเร่งปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงความพยายามในการผ่าตัดยกเครื่องประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบททางธุรกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เว้นแม้แต่ในภาคธนาคารของเมียนมาที่กำลังมีการพลิกโฉม โดยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์และข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจของธนาคารต่างชาติที่มีสาขาอยู่ในเมียนมา เพื่อยกระดับภาคธนาคารของเมียนมาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่เมียนมาจะบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีภาคการเงินในอนาคต โอกาสนี้ผมจึงอยากมาเล่าถึงสถานการณ์ในภาคธนาคารของเมียนมาที่กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจต่อยอดการดำเนินธุรกิจในเมียนมาครับ
ก่อนอื่นผมขอย้อนให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพพัฒนาการของภาคธนาคารของเมียนมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาดำเนินกิจการของธนาคารต่างชาติก่อนครับ ในอดีตภาคธนาคารของเมียนมาถือเป็นสาขาที่ถูกจำกัดและมีการควบคุมการเข้ามาลงทุนของธนาคารต่างชาติอย่างเข้มงวด ธนาคารต่างชาติสามารถเข้าไปดำเนินการได้เพียงการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนเท่านั้น ซึ่งสำนักงานผู้แทนของธนาคารต่างชาติแห่งแรกในเมียนมาเปิดดำเนินการในปี 2536 ก่อนที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนปัจจุบันมีสำนักงานผู้แทนรวมทั้งสิ้น 49 ธนาคาร รวมถึงสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิรูปประเทศในปี 2553 เมียนมาเริ่มอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาเปิดดำเนินการในรูปแบบสาขาของธนาคารต่างชาติในปี 2558 จำนวน 9 ธนาคาร จาก 6 ประเทศ (ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และไทย) แต่ยังจำกัดการเปิดสาขาได้เพียงธนาคารละ 1 สาขาเท่านั้น และสามารถให้บริการทางการเงินเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ กิจการร่วมทุน และธนาคารท้องถิ่น ไม่สามารถให้บริการกับลูกค้ารายย่อยและบริษัทสัญชาติเมียนมาได้ ต่อมาในปี 2560 เมียนมาอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติอีก 4 ธนาคาร จาก 4 ประเทศ (ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินเดีย) เข้ามาเปิดสาขาได้เพิ่มเติม จะเห็นได้ว่าเมียนมาทยอยให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อการกำกับดูแลอย่างทั่วถึง ขณะที่ยังจำกัดบทบาทการให้บริการของธนาคารต่างชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในภาคธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีความเคลื่อนไหวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการปฏิรูปภาคธนาคาร หลังจากธนาคารกลางเมียนมาประกาศปลดล็อกข้อจำกัดการให้บริการของธนาคารต่างชาติที่มีสาขาอยู่ในเมียนมาเพื่อเปิดทางให้สาขาของธนาคารต่างชาติสามารถให้บริการทางการเงินในขอบเขตที่กว้างมากขึ้น ประการแรกอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติสามารถให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Wholesale Banking ซึ่งรวมถึงการให้เงินกู้กับบริษัทท้องถิ่นสัญชาติเมียนมาในสกุลเงินจ๊าต เพิ่มเติมจากเดิมที่สาขาของธนาคารต่างชาติสามารถให้เงินกู้กับบริษัทต่างชาติในสกุลเงินต่างประเทศได้เท่านั้น โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินจ๊าตที่เรียกเก็บต้องเท่ากับที่ธนาคารท้องถิ่นปล่อยกู้สูงสุดไม่เกิน 13% ต่อปี ตลอดจนสามารถให้บริการทางการเงินด้าน Trade Financing ได้เต็มรูปแบบไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมส่งออกและนำเข้า เช่นเดียวกับธนาคารท้องถิ่น ประการที่สอง อนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศได้เอง แต่มีเงื่อนไขว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้องสอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยธนาคารกลางเมียนมาไม่มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศสูงสุดไว้ ประการที่สามเตรียมอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติรายใหม่เข้ามาเปิดสาขาในเมียนมาได้เพิ่มขึ้นในปี 2562 รวมถึงเตรียมให้ธนาคารต่างชาติที่มีสาขาอยู่ในเมียนมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 13 แห่ง สามารถยื่นขอขยายสาขาเพิ่มเติมได้ทั่วประเทศ นับเป็นโอกาสที่ธนาคารต่างชาติจะเข้ามาขยายการลงทุนในเมียนมามากขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า การปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ตามที่ผมกล่าวข้างต้น จะส่งผลเชิงบวกต่อภาคธนาคารเมียนมาทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญ ผลทางตรงก็จะทำให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถให้บริการทางการเงินกับบริษัทท้องถิ่นได้ใกล้เคียงกับธนาคารท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทท้องถิ่น แต่ยังทำให้บริการทางการเงินในตลาดการเงินเมียนมาหลากหลายขึ้น เนื่องจากสาขาของธนาคารต่างชาติมีจุดแข็งจากการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมกว่าธนาคารท้องถิ่น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้าน Trade Financing ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจท้องถิ่นและเกื้อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาในระยะยาว ส่วนผลทางอ้อมจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในภาคธนาคารของเมียนมาที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ธนาคารท้องถิ่นต้องเร่งพัฒนาและปรับตัว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับธนาคารต่างชาติได้ ซึ่งผมมองว่าจะส่งผลดีต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธนาคารของเมียนมาทั้งระบบ
การพลิกโฉมปฏิรูปภาคธนาคารของเมียนมาในครั้งนี้แม้ว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจธนาคารของเมียนมา แต่มีประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลครับ เนื่องจากธนาคารท้องถิ่นในเมียนมาส่วนใหญ่เป็นธนาคารขนาดกลางและเล็ก ซึ่งอาจยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับสาขาของธนาคารต่างชาติที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและเทคโนโลยีทางการเงิน แต่อย่าลืมครับว่าสาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมายังถูกจำกัดขอบเขตการให้บริการบางประการเพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของธนาคารท้องถิ่น เช่น สาขาของธนาคารต่างชาติยังไม่สามารถให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Retail Banking ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจของธนาคารท้องถิ่น รวมถึงสาขาของธนาคารต่างชาติยังไม่สามารถรับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ธนาคารต่างชาติยังคงต้องขยายการให้บริการทางการเงินอย่างระมัดระวัง
สุดท้ายนี้ผมมองว่าภาคธนาคารจะเป็นภาคส่วนสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของเมียนมาในระยะข้างหน้า ขณะที่การปฏิรูปภาคธนาคารจะช่วยยกระดับให้เมียนมามีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้น และเมื่อประกอบกับในปีนี้เมียนมาเตรียมเปิดดำเนินการบริษัทเครดิตบูโรแห่งแรกของประเทศ ภายใต้ชื่อ Myanmar Credit Bureau Ltd. จะยิ่งส่งผลดีต่อภาคการเงินการธนาคารของเมียนมา โดยเฉพาะการช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับธนาคารในการปล่อยกู้ และลดความเสี่ยงที่ NPLs ในระบบจะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนในเมียนมาให้ดีขึ้นครับ
ที่เกี่ยวข้อง
-
พลิกธุรกิจ SMEs ไทย มองหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
จากหลายวิกฤตที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการ SMEs มักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นเวลานาน อย่างวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น เพราะกว่า 98% ของ SMEs ยังคงพ...
25.02.2021 -
แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในเมียนมา … ยังโตได้ในบางกลุ่ม
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความของผมอย่างต่อเนื่อง ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่อาจสังเกตได้ว่าในปีที่ผ่านมาผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเทศเมียนมา นั่นเป็นเพราะการที่ EXIM BANK ได้เปิดสำนักงานผู...
08.01.2019
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019