บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

สตาร์ตลงทุนปี 2565 ... เตรียมแกร่ง พร้อมเสริมเก่งให้ภาคธุรกิจ

ตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องทุ่มเทงบประมาณและเวลาไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากสถานการณ์หลากหลายที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Lockdown ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศคู่ค้า การขาดวัตถุดิบในการผลิตจากปัญหา Supply Chain Disruption การขนส่งที่ล่าช้าและค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น จนถึงการขาดแคลนแรงงาน หรือแรงงานในโรงงานติด COVID-19 จนต้องหยุดผลิต แผนธุรกิจที่ผู้ประกอบการอาจจะเคยวาดไว้ในใจจึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการกระจายวัคซีน COVID-19 เป็นวงกว้างในปี 2564 จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปเริ่มกลับมาคึกคักจนเศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มั่นใจและกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สังเกตจากปริมาณการค้าโลกในปี 2564 ที่หน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญต่างคาดว่าจะเติบโตได้ถึงราว 10% หลังจากในปี 2563 หดตัวลง 5% ด้วยโมเมนตัมของการส่งออกที่กลับมาเติบโตอีกครั้งในปัจจุบัน และประสบการณ์ในการรับมือกับ COVID-19 ที่ผ่านมาแล้วถึง 2 ปี ผมเชื่อว่าเวลานี้ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจน่าจะรับมือกับ COVID-19 ได้ดีขึ้น และใช้เวลาน้อยลงกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้มีเวลาในการมองไปข้างหน้าและวางแผนสำหรับอนาคตได้มากขึ้น ผมจึงมองว่าปี 2565 จะเป็นปีที่ธุรกิจต่างๆ หันมาลงทุนเพื่อติดเครื่องมือ เสริมเกราะป้องกัน หรือ Diversify กิจการ หรืออาจกล่าวได้ว่า ปี 2565 จะเป็นปีแห่งการลงทุน เพื่อเตรียมอุตสาหกรรมให้พร้อมในหลากหลายแง่มุม ดังนี้

Ready for New Growth : ลงทุนเพื่อติดเครื่องมือ-เพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจก้าวทันการเติบโตของตลาด

>> การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ในปี 2564 แม้การบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่เม็ดเงินจากการส่งออกของไทยที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในปีผ่านมาหลายธุรกิจในไทยใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ไปจนเต็มหรือเกือบเต็มแล้ว เพื่อตอบรับอุปสงค์ในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ในปี 2565 มูลค่าส่งออกของไทยจะยังเติบโตต่อเนื่องอีกราว 5% เมื่อประกอบกับการบริโภคในประเทศที่แม้โดยรวมยังดูเปราะบาง แต่ก็มีทิศทางฟื้นตัวโดยคาดว่าจะขยายตัวราว 3-5% หลายธุรกิจที่ต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาดหรือขยายการเติบโตจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มในโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงเครื่องมือต่างๆ เพื่อขยายกําลังการผลิตให้ทันกับความต้องการสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เปรียบเสมือนชาวประมงเก่งๆ ที่หากมีแต่เครื่องมือจับปลาขนาดเล็ก เมื่อไปเจอแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปลาชุกชุมก็ย่อมเสียโอกาส จึงควรลงทุนซื้อเครื่องมือขนาดใหญ่เพื่อให้จับปลาได้มากขึ้น สำหรับสินค้าที่มีอัตราการใช้กําลังการผลิตเฉลี่ยสูง (มากกว่า 80%) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 เช่น ผลิตภัณฑ์กระดาษ เม็ดพลาสติก เภสัชกรรม และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

>> การลงทุนระบบอัตโนมัติเพื่อแก้ปัญหา/ทดแทนแรงงาน อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาหลายปีแล้ว กำลังแรงงานของไทยจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานในภาคการผลิตและรับเหมาก่อสร้าง ที่ผ่านมาเราจึงเห็นว่าหลายอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก เช่น งานเก็บผลไม้ในสวน โรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม และการรับเหมาก่อสร้าง ต้องหันไปพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 จนแรงงานต่างด้าวบางส่วนกลับประเทศไปและยังกลับเข้าไทยไม่ได้ ก็ทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานเด่นชัดขึ้น ทั้งนี้ การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานจากงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับของมีคม ของหนัก ความร้อน หรือสารเคมีอันตราย นอกจากนี้ การลงทุนระบบอัตโนมัติยังช่วยรองรับการเติบโตของกิจการในอนาคต ซึ่งปัญหาการขาดแรงงานจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการขยายกำลังการผลิตหรือ Scale up กิจการได้อย่างราบรื่นขึ้น

Ready for New Measures : ลงทุนเพื่อเสริมเกราะป้องกันไว้รับมือกับมาตรการใหม่ๆ ของคู่ค้า

ความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน และสุขอนามัย ของผู้คนทั่วโลก ทำให้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวพันกับประเด็นดังกล่าวได้เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นเพียงมาตรการเฉพาะของไม่กี่ประเทศ หรือเป็นมาตรฐานตามความสมัครใจที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติ (Nice-to-have) แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นมาตรการหรือมาตรฐานที่หลายประเทศมีแนวโน้มจะนำมาบังคับใช้มากขึ้น และจะย้อนกลับมาเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย เพราะผู้ที่ปฏิบัติตามไม่ได้ก็จำเป็นต้องออกจากสนามการค้าไป (Must-have) ผมจึงเห็นว่าขณะนี้ผู้ส่งออกของไทยต้องเร่งสำรวจธุรกิจของท่านว่าพร้อมในการมือกับมาตรการต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด และหากยังไม่พร้อมก็ต้องเริ่มคิดถึงการลงทุนปรับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรการใหม่ เพื่อเสริมเกราะกำบังไม่ให้ธุรกิจของท่านได้รับผลกระทบ อาทิ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไป EU ต้องปรับไปใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ 95% (คิดตามน้ำหนัก) พร้อมระบุแหล่งผลิตบนฉลาก และใช้สารแต่งกลิ่นจากธรรมชาติเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบใหม่ที่ EU กำหนด

นอกจากนี้ ผมมองว่าอีกหนึ่งการลงทุนสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือการลงทุนในพลังงานสะอาด เพราะปัจจุบันการผลิตพลังงานเป็นกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดถึงกว่าครึ่งของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก โดยพลังงานสะอาดที่ถูกมองว่ามีศักยภาพ คือ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพราะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมด และปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่แข่งขันกับพลังงานจากฟอสซิลได้แล้ว สังเกตจากการลงทุนผลิตไฟฟ้าใหม่ของทั้งโลกในปี 2563 ที่มีสัดส่วนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมรวมกันถึงกว่า 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด สำหรับประเทศไทยเอง ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการติดตั้งที่พื้น ติดตั้งบนหลังคา หรือติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกติดตั้งให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่หรือความต้องการใช้งานไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนเมื่อเทียบกับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อีกด้วย

Ready for New Normal : พลิกโฉม-Diversify สู่ธุรกิจใหม่ที่สอดรับกับ New Normal

นอกเหนือจากการลงทุนเพื่อติดอาวุธและเสริมเกราะป้องกันให้ธุรกิจแล้ว การลงทุนอีกลักษณะหนึ่งซึ่งคาดว่าจะเกิดมากขึ้นในระยะข้างหน้าก็คือการลงทุนเพื่อ Diversify จากธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ที่สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้บริโภค (New Normal) หรือมีศักยภาพในการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการลงทุนใหม่ตั้งแต่ต้น การร่วมทุน หรือการควบรวมกิจการ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแทบจะตลอดเวลา ทำให้มีสินค้าหรือบริการจำนวนไม่น้อยที่ถูก Disrupt จนต้องออกจากตลาดไป เช่น หนังสือพิมพ์ที่ถูกแทนที่ด้วยข่าวออนไลน์ กล้องฟิล์มที่ถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิทัลและ Smart Phone รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะถูกแทนที่โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ใช้น้ำมันที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกแทนที่ด้วยบรรจุภัณฑ์กระดาษหรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่าย ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจที่กำลังจะถูก Disrupt เช่นนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิวัติตัวเองขนานใหญ่หรืออาจต้องหันไปทำธุรกิจอื่น ซึ่งอาจเทียบได้กับการเกิดใหม่ทางธุรกิจ เช่น การที่ผู้ประกอบการในวงการน้ำมันหันไปลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดี เพื่อให้กิจการเติบโตได้ต่อเนื่องอย่างมั่นคง

สุดท้ายนี้ เพื่อให้การลงทุนก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ ผมเห็นว่าผู้ประกอบการควรจะมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนที่แน่ชัด เพราะจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางหรือการวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญคือควรเลือกลงทุนในสิ่งที่ท่านได้พิจารณาข้อมูลมาอย่างรอบคอบและรอบด้านแล้ว ไม่ควรลงทุนเพียงเพราะเห็นว่าใครๆ ก็ทำแบบเดียวกัน และขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่า EXIM BANK พร้อมเสมอที่จะเป็นตัวช่วยให้กับผู้ส่งออกในทุกขั้นตอนการเตรียมความพร้อม เพราะเราเชื่อว่าการเตรียมตัวเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ส่งออกประสบความสำเร็จได้ครับ
“Before anything else, preparation is the key to success” – Alexander Graham Bell.

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • BRICS-11 … New Game Changer รับมือขั้วอำนาจใหม่ รับปีมังกร

    สวัสดีปีใหม่และขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ปีมังกร ผมขอเปิดศักราชต้นปีนี้ด้วยข่าวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่ของโลก นั่นคือ BRICS ซึ่งเดิมเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาด...

    calendar icon22.01.2024
  • ASEAN กับ พร 3 ประการนำพาสู่ Green Era

    อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มจะร้อนทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 หรือในปี 2567 ขณะเดียวกันเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาหลายประเทศในอาเซียนเผชิญกับอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ข้อมูลตรงนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นชัดว่าผลกระท...

    calendar icon27.06.2023
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview