บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
ผ่านเทศกาลตรุษจีนมาแล้ว ในที่สุดเราก็เข้าสู่ปีมังกรอย่างเป็นทางการเสียทีนะครับ ตามประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนในช่วงปีใหม่จีนแบบนี้ หลายๆ ท่านก็อาจจะไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรให้เป็นสิริมงคล หรือท่านที่มีความเชื่อเรื่องปีชงก็อาจจะทำบุญเสริมดวงชะตาเพื่อความสบายใจ แต่นอกเหนือจากการขอพรหรือทำบุญแล้ว ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตหรือธุรกิจของท่านประสบความสำเร็จ คือการเตรียมความพร้อมให้รอบด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือการปรับการดำเนินธุรกิจให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยเฉพาะการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ต้องเผชิญแรงกดดันจากทุกทิศทุกทาง ดังนี้ครับ
แรงกดดันจากผู้บริโภค : ธุรกิจต้องโปร่งใส ไม่ฟอกเขียว
ผลสำรวจล่าสุดของ Euromonitor ในปี 2566 พบว่ามีผู้บริโภคถึง 64% ที่พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเข้าสู่แนวทางของความยั่งยืน โดยพฤติกรรมที่ผู้บริโภคแสดงออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ด้วยสัดส่วนเกือบ 60% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ลดการใช้พลาสติก ลดขยะอาหาร และรีไซเคิลของใช้ ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคกว่า 30% ที่พยายามลดการปล่อยคาร์บอน และเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่าลำพังการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพียงอย่างเดียวยังก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ค่อนข้างจำกัด การแก้ปัญหาที่ได้ผลต้องแก้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ผู้บริโภคจึงหันมาเรียกร้องให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบมากขึ้นและจริงใจขึ้น
นอกจากนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อีกทั้งค่าครองชีพของผู้บริโภคก็สูงขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ผู้บริโภคเผชิญความท้าทายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อโลก โดยมีผู้บริโภคถึง 41% ที่ระบุว่าการที่สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีราคาสูงทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึง ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันจึงหันกลับมาตั้งคำถามว่าแล้วภาคธุรกิจกับภาครัฐได้ทำอะไรเพื่อโลกที่ดีขึ้นบ้างหรือยัง เพราะสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือการลงมือทำเพื่อโลกอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงการฟอกเขียว (Greenwashing) หรือการกล่าวอ้างว่าสินค้าหรือบริษัทของตนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้ลงมือทำจริง แต่ผู้บริโภคต้องการความโปร่งใสและมีหลักฐานให้ตรวจสอบได้ โดยผู้บริโภค 19% ระบุว่าไม่เชื่อที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างว่าสินค้าของตนผลิตอย่างยั่งยืน ภาคธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบ
มาตรการในต่างประเทศ : ตลาดจะหดแคบลงเรื่อยๆ หากไม่ปรับตัว
นอกจากกระแสตื่นตัวของผู้บริโภคแล้ว สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรงคือมาตรการของประเทศคู่ค้า ซึ่งมาตรการที่ถูกกล่าวถึงบ่อยมากในปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของ EU ที่เริ่มบังคับใช้ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 โดยผู้นำเข้าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง 6 ประเภท (ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน) เข้าไปใน EU ต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Embedded Emissions) ทั้งทางตรง (Direct) และทางอ้อม (Indirect) ของสินค้านั้น และตั้งแต่ปี 2569 ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนด้วยการซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนส่วนเกินของสินค้าที่นำเข้า
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐฯ ก็กำลังผลักดันร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ที่มีเนื้อหาคล้ายกับ CBAM ของ EU เช่นกัน โดยร่างกฎหมาย CCA ฉบับที่สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เพิ่งเสนอเข้ามาใหม่ในเดือนธันวาคม 2566 ยังมีเนื้อหาคล้ายร่างฯ เดิมที่เคยเสนอเข้ามาก่อนหน้านี้ กล่าวคือ สินค้าที่กำหนด เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก กระดาษและเยื่อกระดาษ และเอทานอล ทั้งที่ผลิตในสหรัฐฯ และที่นำเข้าจากต่างประเทศจะต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงกว่าค่าเฉลี่ยจะต้องจ่ายภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยเกินตั้งแต่ปี 2568 สำหรับสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ และปี 2570 สำหรับสินค้านำเข้า นอกจากนี้ หลังจากกฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ จะมีการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้สินค้าภายใต้ CCA เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งจะค่อยๆ ลดเพดานการปล่อยคาร์บอนลงปีละ 2.5-5% และเพิ่มอัตราภาษีที่เรียกเก็บขึ้นทุกปี เพื่อกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าลดการปล่อยคาร์บอนลง
นอกเหนือจาก EU และสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างพิจารณาจะนำมาตรการในลักษณะเดียวกันมาใช้ โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2566 ออสเตรเลียได้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้โรงงานขนาดใหญ่ในออสเตรเลียที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่าปีละ 1 แสนตัน ต้องจัดทำเป้าหมาย (Baselines) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง 43% ภายในปี 2573 และเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตในออสเตรเลียกับผู้ผลิตจากต่างชาติ ออสเตรเลียจึงเตรียมเรียกเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้า โดยจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และซีเมนต์ คาดว่าจะสรุปรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวได้ภายในเดือนตุลาคม 2567
ผมเชื่อว่าคงมีผู้ประกอบการบางท่านที่เคยมีความคิดว่า ‘หากกฎระเบียบของประเทศไหนยุ่งยากนัก เราก็ไม่ต้องขายให้ประเทศนั้น แล้วหันไปขายให้ประเทศที่กฎระเบียบไม่เข้มงวดขนาดนั้นก็ได้’ แต่ท่านทราบไหมครับว่าประเทศที่เป็นกำลังซื้อหลักของโลก ประชากรมีรายได้สูง ที่ท่านสามารถขายสินค้าได้ Margin ดี ต่างก็เป็นประเทศที่มีหรือกำลังจะมีการจัดเก็บการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และ/หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems : ETS) ทั้งสิ้น ในขณะที่ประเทศที่ยังไม่มีแผนจะใช้มาตรการเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ผู้ประกอบการไทยไม่คุ้นเคยและมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หากเรายังยืนยันว่าจะไม่ปรับตัวให้เข้ากับวิถีของความยั่งยืน ก็เท่ากับว่าเราค่อยๆ ปิดประตูปฏิเสธลูกค้าชั้นดีไปทีละราย จนสุดท้ายจะแทบไม่เหลือลูกค้าเลย
แรงกระตุ้นจากภาครัฐ : ไทยเตรียมเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศ
การที่ประเทศไทยตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2608 จึงต้องมีแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จะพบว่ามาจากการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดถึง 36% รองลงมา คือ ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมตามลำดับ แนวทางการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยจึงเป็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 50% ส่วนในภาคขนส่งมีการตั้งเป้าให้เปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคหันมาผลิตและเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ภาครัฐจึงมีมาตรการทั้งการเก็บภาษีจากรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนสูงและการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยมีการปรับเปลี่ยนภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์จากเดิมที่เรียกเก็บตามปริมาณความจุของกระบอกสูบ มาเป็นการเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งอัตราภาษีดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 2-3 ปี โดยลดอัตราภาษีลงสำหรับรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงหรือปรับขึ้นอัตราภาษีสำหรับรถยนต์ที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยได้ เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตเร่งผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก 27% ที่มาจากภาคอุตสาหกรรม จึงต้องมีกลไกอื่นเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างพิจารณากลไกภาษีคาร์บอน 2 แนวทางที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems : ETS) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการ CBAM ของ EU ซึ่งจะทำให้ภาษีที่ผู้ประกอบการชำระในประเทศแล้วสามารถนำไปใช้ในต่างประเทศได้ด้วย โดยตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จก่อนปี 2569 ที่ EU จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียม CBAM ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความคืบหน้าไปเกินครึ่งและคาดว่าจะมีการเผยแพร่ร่างฯ ฉบับแรกได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 คือ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.โลกร้อน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดกิจกรรมหรือการทำธุรกิจที่สร้างมลภาวะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก โดยจะกำหนดให้ทุกฝ่ายต้องแจ้งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจัดทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หากไม่รายงานหรือรายงานข้อมูลเท็จจะมีค่าปรับ ผู้ประกอบการโรงงานที่อยู่ในข่ายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจึงต้องเตรียมตัวจัดเก็บและรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นข้อมูลให้ภาครัฐนำไปออกมาตรการต่างๆ เช่น ภาษีคาร์บอน ต่อไป
เมื่อเทรนด์ธุรกิจทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่การเป็นกิจการสีเขียวที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ แม้กระทั่งในประเทศไทยเองก็กำลังจะเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้าที่ผลิตในประเทศ จึงไม่เหลือเวลาสำหรับความลังเลใจใดๆ อีกแล้วครับ แทนที่จะปล่อยเรื่องนี้ไว้เป็นปัญหาเหมือนเป็นปีชงที่ต้องลุ้นว่าปีนี้จะมีอะไรไหม สู้ท่านรีบเตรียมความพร้อมโดยการปรับเปลี่ยนธุรกิจของท่านให้ Green ขึ้น ยั่งยืนขึ้น ท่านก็จะรักษาโอกาสทางการค้าไว้ได้โดยไม่ต้องห่วงว่าปีนี้จะชงหรือไม่อีกต่อไป
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง
-
เคล็ด(ไม่)ลับ ... ปรับธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดขึ้นเป็นลำดับ ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยก็ต้องเผชิญทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงและยาวนาน จนเชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง...
24.06.2024 -
หนี้ทางเทคนิคและหนี้ด้านสิ่งแวดล้อม ... ชนวนเหตุที่ทำให้ธุรกิจติดบ่วง
ถ้าพูดถึง “หนี้” ผมคิดว่าท่านที่ทำธุรกิจคงคุ้นเคยและทราบดีว่าเมื่อมีหนี้ก็ย่อมมี “ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย” การเป็นหนี้แต่ละครั้งจึงต้องคิดอย่างรอบคอบแล้วว่า หนี้ก้อนนี้จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นคุ้มค่...
20.04.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019