บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

ถอยเพื่อรุก รอบุกเมื่อพร้อม...สู้ปัญหาโลกร้อนในยุคสงคราม

เมื่อไม่นานมานี้ The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำของประเทศสมาชิก UN ที่ทำหน้าที่ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ออกรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนที่น่ากังวล เนื่องจากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน (กรณีแต่ละประเทศไม่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) จะทำให้โลกมีแนวโน้มร้อนขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส และแม้แต่ละประเทศจะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ภายใต้ Paris Agreement ก็จะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นได้เพียง 2.2 องศาเซลเซียส ซึ่งยังเป็นระดับที่แย่กว่าเป้าหมายสุดท้ายในการรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สะท้อนให้เห็นว่าโลกต้องการ Action ที่เร่งด่วนจากทุกประเทศมากกว่านี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ล่าสุดสถานการณ์สำคัญอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน กลายเป็นปัจจัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อแผนการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลทั้งในทางลบและบวกพร้อมกัน ซึ่งผมขออธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ดังนี้

  • ถอยหลัง...การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมสะดุดลงจากการที่ EU อาจต้องพึ่งพาถ่านหินเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยการที่ EU พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างมาก (นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วน 20% และ 45% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดตามลำดับ) กลายเป็นจุดอ่อนที่รัสเซียใช้ตอบโต้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของ EU จนทำให้หลายประเทศต้องเร่งหาช่องทางลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งในระยะสั้นหลายประเทศอาจจำเป็นต้องกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหินเพิ่มขึ้น สังเกตจากปริมาณการนำเข้าถ่านหินของ EU ในเดือน มี.ค. 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากแหล่งอื่นต้องใช้ระยะเวลาในการลงทุนด้านโครงสร้าง ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินถือเป็นแหล่งพลังงานเดิมที่หลายประเทศเคยใช้เป็นหลักอยู่แล้ว โดยบางประเทศมีแผนที่จะใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกถอดออกจากระบบเครือข่ายไฟฟ้าไปแล้วเป็นโรงไฟฟ้าสำรอง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ทันทีหากการนำเข้าพลังงานงานจากรัสเซียหยุดชะงักกะทันหัน ทั้งนี้ International Energy Agency (IEA) ระบุว่าการใช้พลังงานถ่านหินมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงราว 40% ของโลก ดังนั้น การที่ EU อาจจำเป็นต้องกลับมาใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นจึงถือเป็นการก้าวถอยหลังในเส้นทางที่มีการลดโลกร้อนเป็นเป้าหมาย
  • เพิ่มจังหวะการรุกครั้งใหม่...มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนในระยะยาว เพื่อให้การแก้ปัญหาด้านพลังงานเป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว EU ได้ประกาศแผน REPowerEU ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการยุติการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2573 โดยส่วนหนึ่งจะทดแทนด้วยการกระจายแหล่งจัดหาก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตรายอื่นอย่างสหรัฐฯ และกาตาร์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะเพิ่มการผลิตพลังงานทดแทนอื่น อาทิ ก๊าซชีวภาพ (ไบโอมีเทน) ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2573 (ทดแทนก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียได้ราว 20%) รวมถึงตั้งเป้าเพิ่มการนำเข้าและผลิต Renewable Hydrogen อีก 15 ล้านตัน (ทดแทนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้ราว 16-32%) สะท้อนให้เห็นว่าจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีส่วนเร่งให้เกิดการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และหันมาผลิตพลังงานทดแทนขึ้นเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับการลดปัญหาภาวะโลกร้อน

นอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะผลักดันให้ EU ลดการใช้พลังงานฟอสซิลในระยะยาวแล้ว ผลกระทบทางอ้อมของสงครามที่ทำให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น ก็ได้เพิ่มแรงจูงใจให้ประเทศอื่นๆ หันมากระจายแหล่งพลังงานไปยังพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หนทางสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนถือว่ายังอีกยาวไกลและไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งจากรายงาน IPCC ที่กล่าวถึงข้างต้นได้ระบุว่าการจะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทุกประเทศต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% ภายในปี 2573 และต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 นั่นหมายถึง โลกต้องใช้ถ่านหินลดลง 95% น้ำมันลดลง 60% และก๊าซธรรมชาติลดลง 45% ซึ่งผมมองว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายเป็นอย่างมากและทุกประเทศต้องลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมในทันทีจึงจะสามารถช่วยให้โลกก้าวพ้นจากวิกฤตโลกร้อน

สำหรับประเทศไทย การประกาศเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีในเวที COP 26 เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 นับเป็นการเข้าร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐจะเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ขณะที่จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจของไทยก็กระตือรือร้นในการเร่งปรับตัวในเชิงรุกเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในทุกภาคส่วนของโลก โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนเพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจไทยสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกการค้าการลงทุนยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็พร้อมผลักดันเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ EXIM BANK ในบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา ที่จะเป็นทัพหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในมิติที่เชื่อมโยงกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview