บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
เนื่องในโอกาสที่บทความนี้เป็นบทความส่งท้ายปี ผมจึงอยากชวนผู้ประกอบการมามองถึงแนวโน้มสำคัญทางเศรษฐกิจในปีหน้า รวมถึงกระแสหลักของโลกที่จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป โดยคงต้องยอมรับกันก่อนว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 2.7% จากการคาดการณ์ของ IMF นับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี (ไม่รวมช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นโอกาสและความท้าทายสำคัญอื่นที่น่าติดตามในปี 2566 หรือ ปี ค.ศ.2023 โดยผมจะขออนุญาตขมวดประเด็นต่างๆ และถ่ายทอดผ่านบริบทของปี 2-0-2-3 ดังนี้
- “2” ตัวแรก คือ 2 เครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ สวนทางกับเครื่องยนต์เดิมอย่างการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 7% ต่อเนื่องจาก 2.8% ในปี 2565 โดยมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์จากปรากฏการณ์ Revenge Travel หรือการที่นักท่องเที่ยวเริ่มออกเดินทางอย่างต่อเนื่อง หลังจากอัดอั้นกันมาตลอดในช่วง COVID-19 ระบาดรุนแรง ซึ่งคาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20 ล้านคน จากราว 10 ล้านคนในปี 2565 นอกจากนี้ หากจีนเปิดประเทศจะยิ่งทำให้กระแส Revenge Travel เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก และขนส่ง ขณะที่การบริโภคในประเทศก็จะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
- “0” คือ ภารกิจสู่ Zero (Emissions) เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emissions เป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้า Net Zero Emissions ไว้ภายใน
ปี 2608 สำหรับภาคธุรกิจ การวางกลยุทธ์ให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็น
กลยุทธ์เชิงรุกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ และการรุกลงทุนในเทรนด์ธุรกิจใหม่ อาทิ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังควรเตรียมกลยุทธ์ในเชิงรับเพื่อรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อาทิ มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของ EU ซึ่งเตรียมเริ่มบังคับใช้ระยะแรกในช่วง Transitional Period ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 กับกลุ่มสินค้าเบื้องต้น ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน - “2” ถัดมา คือ โลกถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว (Decoupling) ชัดเจนขึ้น การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จีนได้ยื่นฟ้อง WTO ในกรณีสหรัฐฯ กีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ผลิตจากสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่มีมาตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ไปสู่การพึ่งพากันในระดับภูมิภาค (Regionalization) และกลุ่มประเทศที่มีความคิดเห็นทางการเมืองคล้ายกัน (Friend Shoring) มากขึ้น ขณะเดียวกันมาตรการกีดกันทางการค้าและสงครามราคายังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและจับตาเป็นพิเศษต่อไป
- “3” ตัวสุดท้าย คือ Top 3 Rising Star ของปี 2566 ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย จากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคในปี 2566 พบว่าตลาดประเทศเกิดใหม่ในเอเชียเป็นตลาดที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะขยายตัวถึง 2% 6.1% และ 5.0% ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณารายประเทศ พบว่าเวียดนามโดดเด่นจากพื้นฐานเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ขณะที่อินเดีย เศรษฐกิจมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ขยับ Ranking สู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แซงหน้าสหราชอาณาจักร ส่วนอินโดนีเซียก็ได้รับความสนใจจากการปฏิรูปกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนมากขึ้น จึงนับเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายโอกาสการค้าการลงทุนไปยังประเทศดังกล่าวภายใต้ภาวะเศรษฐกิจประเทศตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว
ในโอกาสที่อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะย่างเข้าสู่ปีกระต่าย ผมขออวยพรให้ท่านผู้ประกอบการประสบแต่ความสุข ความสำเร็จตลอดปีกระต่ายนี้ และไม่ว่าโลกจะเหวี่ยงไปทางทิศใด ผมเชื่อว่าทุกท่านจะก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้เหมือนกระต่ายที่สามารถกระโดดได้ไกลกว่า 5 เท่าของตัวมันเอง ซึ่ง EXIM BANK พร้อมเป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกท่านตลอดระยะเวลาข้างหน้าครับ
ที่เกี่ยวข้อง
-
ทำดีได้ดี … Sustainability Linked Loan นวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืน
สถาบันการเงินเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของระบบเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนหัวใจที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงภาคธุรกิจและครัวเรือนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงมีบทบาทสำคัญในการกำ...
28.10.2024 -
ถอดโมเดลการปรับตัวของเกาหลีใต้ ... เร่งหยุดปัญหาเพื่อสร้างอนาคต
เมื่อพูดถึงต้นแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว หลายท่านคงนึกถึง “เกาหลีใต้” ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงราว 50 ปี พลิกฟื้นเศรษฐกิจจากที่เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในช่วงหลังสงครามเกาหลี (...
29.03.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019