บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

To Dream the Possible Dream : ระบบอัตโนมัติ … ฝันที่ดูไกล แต่ไม่เกินเอื้อม

ในชีวิตนายธนาคารของผม ผมพบว่าสิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายก็คือ หลายครั้งผู้ประกอบการไทยเห็นเป้าหมายที่ต้องการแล้ว แต่กลับไม่ลองเดินไปให้ไกลกว่าจุดที่ตัวเองอยู่ ทั้งที่มีศักยภาพที่จะเติบโตไปได้อีกมาก เพียงเพราะถูกจำกัดด้วยความเชื่อ (Mindset) จึงขีดวงไว้ว่าจะทำเพียงเท่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ทราบดีว่าการส่งออกไปตลาดต่างประเทศจะทำให้ท่านมีลูกค้าเพิ่มขึ้น และเพิ่มยอดขายสินค้าได้อีกมาก แต่ก็ยังไม่ส่งออกเพราะรู้สึกว่าการส่งออกเป็นเรื่องไกลเกินตัว (Too far to reach) ทำให้พลาดโอกาสดีๆ ไป เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่ส่งออกมีรายได้โดยเฉลี่ยมากกว่า SMEs ที่ขายเฉพาะตลาดในประเทศถึง 4 เท่า ขณะเดียวกันไทยก็เป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ค่อนข้างน้อย เพียง 1.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 2.3% ในปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งก็เนื่องจากผู้ประกอบการยังมองว่าการลงทุนวิจัยและพัฒนาต้องใช้เวลามากกว่าจะคืนทุน (Too long to be successful) หรือในภาวะที่ทั่วโลกต่างก็พูดถึงและให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน แต่ก็ยังลังเลที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางของความยั่งยืน เพราะไม่เชื่อว่าการลงทุนเพื่อให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดีอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น (Too good to be true) แต่กลับเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวมีแต่จะเพิ่มต้นทุนและทำให้กำไรลดลง นอกจากนี้ ยังรวมถึงความต้องการยกระดับการผลิตในระยะยาว แต่กลับตั้งตัวชี้วัดองค์กรด้วยการลดต้นทุนแบบรายปี ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจลงทุนเพื่อประโยชน์ในอนาคตได้ การปรับ Mindset เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า (Too costly to invest) จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผมจะขอแก้ความเชื่อดังกล่าวในครั้งนี้ครับ

การลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ … เป็นการลงทุนที่ไม่ไกลเกินเอื้อม


ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโครงสร้างประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2548 และล่าสุดในปี 2565 ไทยก็กลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) กล่าวคือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่รวดเร็วมากคือเพียง 17 ปี เทียบกับชาติตะวันตกที่ใช้เวลากว่า 100 ปี และคาดว่าในอนาคตอีกเพียง 9 ปีข้างหน้า ไทยก็จะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ (Hyper Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี สูงถึง 20% ซึ่งเร็วกว่าญี่ปุ่นที่ใช้ระยะเวลา 11 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้ประชากรวัยแรงงานของไทยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต

นอกจากปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว ค่าจ้างแรงงานของไทยที่สูงกว่าเพื่อนบ้านและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยได้ปรับขึ้นอีกวันละ 8-22 บาท ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น นอกจากนี้ หากมีการปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2556 ที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งทำให้อัตราค่าจ้างในบางจังหวัดเพิ่มขึ้นถึงวันละ 78 บาท ก็ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการ

ทางออกหนึ่งของปัญหาเหล่านี้คือการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นงานซ้ำๆ อย่างการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือชิ้นงาน การห่อและบรรจุสินค้า และการจัดเรียงสินค้า รวมถึงงานที่เสี่ยงอันตรายจากสารเคมี ไฟ หรือความร้อน ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดปัญหางานหยุดชะงักจากอุบัติเหตุได้อีกด้วย แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังลังเลที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าการลงทุนเครื่องจักรอัตโนมัติต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก

ความคิดที่ว่าต้นทุนในการติดตั้งหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอัตโนมัตินั้นสูงมากจนเรียกว่าอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการทั่วไปคง ‘เอื้อมไม่ถึง’ นั้น เคยเป็นเรื่องจริงเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ในระยะหลังราคาต่อหน่วยของหุ่นยนต์ถูกลงมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าราคาหุ่นยนต์ในปัจจุบันลดลงเหลือเพียงราว 15% ของราคาในปี 2538 อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ราคาต่อหน่วยของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะลดลงเหลือเพียงราว 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (หรือเพียง 3 แสนกว่าบาท) ความคิดที่ว่าหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัตินั้นมีราคาสูงจนลงทุนไม่ไหวจึงอาจจะเป็นเพียงข้อมูลในอดีตที่เราจำฝังใจ จนสร้างภาพลวงตาขึ้นมา

ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการลงทุนระบบอัตโนมัติเป็นอย่างมาก ผลสำรวจของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ ในปี 2565 พบว่าบริษัทที่ตอบแบบสำรวจจะใช้เงินลงทุนเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเฉลี่ยสูงถึง 1 ใน 4 ของงบลงทุนทั้งหมดของบริษัทในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ โดยบริษัทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และคลังสินค้าออนไลน์ครบวงจร (Logistics and Fulfillment) และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการลงทุนเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติเฉลี่ยสูงถึงกว่า 30% ของงบลงทุน (Capital Expenditure) ทั้งหมดของบริษัท ขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค แม้มีสัดส่วนการลงทุนเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติเพียงไม่ถึง 20% ของงบลงทุนทั้งหมดของบริษัท แต่ในแง่มูลค่าแล้วกลับเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มนี้ถึง 23% ที่ระบุว่าบริษัทของตนเองมีแผนจะลงทุนระบบอัตโนมัติด้วยมูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี

ปัจจุบันนับเป็นจังหวะที่ดีที่จะตัดสินใจลงทุนระบบอัตโนมัติเพื่อยกระดับการผลิต ไม่ว่าจะมองในแง่ของแรงสนับสนุนจากภาครัฐที่ BOI ให้การส่งเสริมแก่กิจการที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งในฝั่งของผู้ผลิต และกิจการที่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปใช้งาน โดยกิจการที่เป็นผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ในวงเงิน 50-100% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ (ขึ้นกับระดับการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในประเทศ) และในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนที่ในปัจจุบันเงินบาทแข็งค่า ทำให้ต้นทุนในการนำเข้าหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอัตโนมัติจากต่างประเทศลดลง รวมถึงปัจจัยกดดันจากการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะเร่งให้ผู้ผลิตต้องรีบปรับกระบวนการผลิตใหม่ให้ยังผลิตสินค้าได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นภายใต้จำนวนคนทำงานที่มีจำกัด นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับขึ้นยังจะทำให้โครงการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติถึงจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ได้เร็วขึ้น

เมื่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันเป็นหัวใจสำคัญสำหรับทุกธุรกิจ และถึงที่สุดแล้วประเทศไทยก็ต้องเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ การลงทุนระบบอัตโนมัติเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเป็นหนทางหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจของท่าน ทั้งนี้ มีคำกล่าวว่า “ชัยชนะหรือความสำเร็จเป็นผลลัพธ์จากจังหวะที่ลงตัวของโอกาสกับความพร้อม” เมื่อโอกาสเป็นสิ่งที่กะเกณฑ์ไม่ได้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุด เพื่อให้ไม่พลาดในจังหวะที่โอกาสมาถึง

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • ASEAN กับ พร 3 ประการนำพาสู่ Green Era

    อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มจะร้อนทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 หรือในปี 2567 ขณะเดียวกันเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาหลายประเทศในอาเซียนเผชิญกับอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ข้อมูลตรงนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นชัดว่าผลกระท...

    calendar icon27.06.2023
  • อินเดีย : “ตัวตึง”…ผงาดทาบรัศมีมหาอำนาจโลก

    ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่ในปีนี้แทบไม่มีประเทศใดเลยโตเกิน 2% ทำให้หลายฝ่ายกำลังมองหา Pocket of Growth ใหม่หรือประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นที่จะเข้ามาช่วยพ...

    calendar icon31.03.2023
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview