บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

เศรษฐกิจโลกปี 66 ทรงอย่าง “แบด” แต่อาจไม่ “แซด” อย่างที่คิด

ในช่วงที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าหนึ่งในข่าวที่ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันแทบทุกวันคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่ดูจะไม่ค่อยสดใสมากนัก โดยหลายฝ่ายมีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในทิศทางที่แย่ลงกว่าคาดการณ์เดิม หรือที่เรียกว่า Downside Risk ลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ผมไม่อยากพูดถึงเศรษฐกิจโลกในมุมที่เครียดจนเกินไป ผมจึงขอเปรียบเศรษฐกิจโลกเป็นเพลง ซึ่งเพลงที่ผมคิดว่าน่าจะเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้มากที่สุดคือ เพลงทรงอย่างแบด ที่กำลังฮิตในหมู่วัยรุ่นฟันน้ำนม เนื่องจากหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะ “แบด” ค่อนข้างแน่ แต่ในอีกมุมนึง ผมก็คิดว่าอาจจะไม่ “แซด” อย่างที่คิด จาก 3 เหตุผลที่อาจช่วยให้ Mood & Tone ของเศรษฐกิจโลกดู Soft ลงได้ ดังนี้

  • ผูกเองได้…ก็แก้เองได้ ผมตั้งข้อสังเกตว่า Recession ครั้งนี้ที่อาจเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปดูจะเป็นความตั้งใจของธนาคารกลางทั้ง Fed และ ECB ในการดับไฟเงินเฟ้อที่อาจลุกลามบานปลาย ผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบดั้งเดิมอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการแก้ปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นดูจะแตกต่างจาก Recession 2 ครั้งในอดีตที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด หรือมีการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไป อย่างวิกฤต Hamburger ที่เกิดจากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ซุกอยู่ใต้พรม พอปะทุขึ้นมาก็ทำให้วานิชธนกิจขนาดใหญ่อย่าง Lehman Brothers ล้มชั่วข้ามคืน หรือวิกฤต COVID-19 ที่ผมจำได้ว่าช่วงที่พบการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นของจีนในเดือน ธ.ค. 2562 มีผู้ติดเชื้อเพียงหลักพัน หลายฝ่ายยังประเมินกันอยู่เลยว่าไม่น่าจะรุนแรง แต่สุดท้ายใครจะคิดว่าจะทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกือบ 700 ล้านคน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบ 90 ปี ดังนั้น หากมองในแง่ดี วิกฤตครั้งนี้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว อีกทั้งเป็นวิกฤตที่ผู้กำหนดนโยบายผูกเอง และสามารถแก้เองได้ พูดง่ายๆ คือ Fed และ ECB จงใจเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เศรษฐกิจชะลอ เพื่อลดเงินเฟ้อได้ ก็สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้เช่นกัน   
  • แค้นนี้…เริ่มชำระไม่สาย ผมกำลังพูดถึงการที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด ประเด็นนี้น่าจะสร้าง Multiplier Effects ต่อเศรษฐกิจโลกได้ในหลายมิติ ไม่เพียงภาคการท่องเที่ยวที่ล่าสุด McKinsey คาดว่าปีนี้ชาวจีนจะออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 70 ล้านคน หรือกลับมากว่า 50% ก่อนเกิด COVID-19 รวมถึงการที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกด้วยสัดส่วนราว 12% ก็น่าจะช่วยพยุงการค้าโลกได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าในช่วง 3 ปีที่จีนใช้นโยบาย Zero-COVID ชาวจีนมีมูลค่าการออมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 80% ปัจจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายล้างแค้นที่อั้นมาในช่วง Lockdown (Revenge Travel & Spending) ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อจีนที่ยังอยู่ระดับต่ำอันดับต้นๆ ของโลกที่ 1.8% ทำให้จีนยังมี Room อีกมากในการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุด หลังจีนประกาศเปิดประเทศ Barclays ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 จาก 3.8% เป็น 4.8% ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ Barclays ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้นจาก 1.7% เป็น 2.2% อีกด้วย
  • งานยังมี…เงินยังแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงานและภาคการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในอดีตหากเกิด Recession ภาคส่วนดังกล่าวมักได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้นๆ อย่างวิกฤต Hamburger และ COVID-19 ที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และยุโรปพุ่งเกิน 10% แต่สถานการณ์ปัจจุบันดูจะต่างออกไป แม้เราจะได้ยินข่าวบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ประกาศปลดพนักงานกว่าแสนอัตรา แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่กว่า 165 ล้านคน ทำให้ล่าสุดอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ยังอยู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีที่ 5% เช่นเดียวกับในยุโรปที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.5% นอกจากนี้ หากดูในภาคการเงินที่เคยเป็นต้นตอของวิกฤตหลายครั้ง ปัจจุบันสุขภาพก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จาก NPLs ของสหรัฐฯ (Q3/65) ที่ต่ำเพียง 1.2% น้อยกว่าช่วงวิกฤต Hamburger ที่ 5% หรือ NPLs ในยุโรปที่ 1.8% ต่ำกว่าช่วงวิฤตหนี้ยุโรปที่ 7.5% ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปก็มีความแข็งแกร่งกว่าแต่ก่อน สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ของสหรัฐฯ และยุโรปที่อยู่ในระดับสูงถึง 14.7% และ 18.9% (Q2/2565) ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ Basel III ที่ 8% ทำให้ความเสี่ยงที่นำไปสู่วิกฤตภาคการเงินยังค่อยเบาใจได้

ทั้งหมดนี้ ผมแค่จะบอกว่าอย่าเพิ่งหมดหวังกับเศรษฐกิจโลกปี 2566 กันนะครับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ยังมีโอกาสเจาะตลาดใหม่ๆ ท่ามกลางตลาดหลักที่อาจชะลอลง ที่สำคัญต้องอย่าลืมป้องกันความเสี่ยงการค้าการลงทุน และค่าเงินกันนะครับ

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • จับสัญญาณความเสี่ยงธุรกิจจาก 3 ปัญหาคอขวดโลก

    หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ปัญหาคอขวด (Bottlenecks) อย่างการที่ต้องรอคิวช่องตรวจหนังสือเดินทางเป็นเวลานานที่สนามบิน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวที่ความต้องการใช้บริการหนาแน่นแต่ช่องการให้บริการมีจำกัด ซึ่งปัญหาคอขวดโลกก็มีสาเหตุ...

    calendar icon29.03.2024
  • อยาก Growth แบบไม่สะดุด ... ต้องมาให้สุดที่ Green Growth

    สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่ง EXIM BANK ก่อตั้งมาครบ 30 ปีพอดีครับ สำหรับการเริ่มต้นเข้าสู่วัยเลข 3 นี้ ผมขอย้ำว่า EXIM BANK พร้อมแล้วครับที่จะเดินหน้าสู่บทบาทใหม่ในการเป็น Green Develo...

    calendar icon29.02.2024
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview