บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

ภาษีคาร์บอน...ประตูสู่โอกาสหรือกำแพงแห่งอุปสรรค เราเลือกได้

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของโลกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงถึงราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับ GDP ของอินเดีย) ทำให้ประเทศต่างๆ พยายามลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2593 ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้ง EU และสหรัฐฯ เลือกใช้ คือ การเก็บภาษีคาร์บอน ดังนี้

- EU เริ่มใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งผู้นำเข้าเหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน ใน EU ต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก/คาร์บอน (Embedded Emissions) ทั้งจากกระบวนการผลิตโดยตรง และทางอ้อมจากการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า ของสินค้าที่นำเข้า ก่อนที่จะบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 ม.ค. 2569 ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย หักด้วยราคาคาร์บอนที่ชำระในประเทศผู้ผลิตแล้ว หรือหักด้วยปริมาณการปล่อยคาร์บอนตามสัดส่วนที่ EU กำหนด ผ่านการซื้อใบรับรอง CBAM

- สหรัฐฯ อยู่ระหว่างกระบวนการออกกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ซึ่งทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศและสินค้าที่นำเข้าจะต้องรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก/คาร์บอน ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการใช้พลังงานของสินค้า เพื่อนำไปเทียบกับค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ หากสินค้าของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารายใดปล่อยคาร์บอนสูงกว่าค่าเฉลี่ยจะต้องจ่ายภาษีตามปริมาณที่ปล่อยเกิน ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะค่อยๆ ลดเพดานการปล่อยคาร์บอนลง และเพิ่มอัตราภาษีที่เรียกเก็บขึ้นทุกปี จึงเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าต้องพยายามลดการปล่อยคาร์บอนลงเพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย

จากทั้ง 2 มาตรการข้างต้น สิ่งที่ผู้ส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ CBAM ไปยัง EU และสินค้าภายใต้กฎหมาย CCA ไปยังสหรัฐฯ ต้องดำเนินการ คือ การรวบรวมข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่ผลิต เพื่อให้ผู้นำเข้านำไปรายงาน ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อมลง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ยังขาดความพร้อม โดยผลสำรวจ Micro SMEs ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า 86% ยังไม่ทราบว่าหลายประเทศมีแผนจะจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้า และมีเพียง 13% ที่ระบุว่าพร้อมจะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงดูเหมือนว่าภาษีคาร์บอนจะเป็นกำแพงแห่งอุปสรรคที่จะกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการที่ยังปรับตัวไม่ได้เข้าสู่ตลาด EU และสหรัฐฯ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ CBAM และ CCA ไปยัง EU และสหรัฐฯ รวมกันสูงถึงกว่า 1.06 แสนล้านบาท และมูลค่าความสูญเสียจะมากขึ้นอีกหากมีการขยายขอบเขตของสินค้าหรือมีประเทศอื่นหันมาใช้มาตรการเดียวกันเพิ่มขึ้นในอนาคต

แต่หากท่านเปลี่ยนมุมคิดและพลิกความท้าทายที่เข้ามาให้เป็นโอกาส โดยการเร่งปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพขึ้น ลดการปล่อยคาร์บอนลง ตลอดจนเลือกใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด มาตรการเหล่านี้จะกลายเป็นประตูแห่งโอกาสให้ท่านเข้าสู่ตลาดที่มีมาตรฐาน และไม่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มุ่งแต่ผลิตสินค้าราคาถูกโดยขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีกับรายได้และกำไรที่ท่านจะได้รับโดยตรง เพราะผลการศึกษาของ Moore Global พบว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสูงกว่าบริษัททั่วไปถึง 2 เท่า ซึ่งผมมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทีเดียวครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview