บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

เปลี่ยน “เก่งกระจุก” เป็น “เก่งกระจาย” ... ปั้นผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ผู้ส่งออกบนเวทีโลก

      ภาคส่งออกเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีสัดส่วนสูงถึงราว 60% ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยหนึ่งในปัญหาที่ผมเคยชี้ให้เห็นไปแล้ว คือ ผู้ส่งออกไทยยังมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถผันตัวไปเป็นผู้ส่งออกมีไม่ถึง 1% จาก SMEs ทั้งระบบกว่า 3.19 ล้านราย ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น แคนาดา 12% เวียดนาม 8% รวมถึงจำนวนผู้ส่งออกแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก แต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาภาคส่งออก คือ โครงสร้างของผู้ส่งออกกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ โดยจากการศึกษา Data Analytics ของฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลระดับ Firm-level ของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในระบบกว่า 6 แสนราย (เป็นผู้ส่งออก 25,735 ราย มูลค่าส่งออกครอบคลุม 94% ของประเทศ) มีประเด็นน่าสนใจที่ผมอยากแชร์และชวนทุกท่านขบคิด ดังนี้

  • จำนวนกระจุก ผู้ส่งออก 85% ของทั้งประเทศอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ/ปริมณฑล และภาคตะวันออก ขณะที่ผู้ส่งออกที่เหลือกระจายอยู่ในภาคอื่นไม่มากนัก มีสัดส่วนรวมกันเพียง 15% โดยอยู่ในเมืองเศรษฐกิจหลักของแต่ละภาค เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น
  • เข้มข้นกระจุก หากพิจารณาในมิติของ Exporter’s Penetration (จำนวนผู้ส่งออกในภาคหารด้วยจำนวนผู้ประกอบการในภาค) เพื่อดูความเข้มข้นของผู้ส่งออกในพื้นที่นั้นๆ พบว่าภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของผู้ส่งออกสูงสุดอยู่ที่ 6% รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ ที่ 5% เทียบกับภาคอื่นๆ ที่อยู่ในระดับ 1-3% เท่านั้น สะท้อนว่ายังมีช่องว่างในการพัฒนาผู้ประกอบการให้ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกได้อีกมาก เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในระดับที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก
  • มูลค่ากระจุก ในมิติของมูลค่าส่งออก พบว่า 83% ของมูลค่าส่งออกของประเทศมาจากกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานการส่งออกหลักของประเทศมานับตั้งแต่ Eastern Seaboard จนถึง EEC ขณะที่หากพิจารณามูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อราย (ตัดข้อมูลผิดปกติหรือ Extreme Value ออก 3%) ผู้ส่งออกในภาคตะวันออกมีมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 366 ล้านบาทต่อราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 2 เท่า (189 ล้านบาท) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงยังเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของผู้ส่งออกรวมของภาคนี้

            จะเห็นได้ว่าโครงสร้างผู้ส่งออกไทยในรายพื้นที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และ
ภาคตะวันออกเป็นหลักทั้งในแง่จำนวนและมูลค่าส่งออก
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนจาก “เก่งกระจุก” เป็น “เก่งกระจาย” โดยประการแรกต้องส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละภาคให้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออก โดยอาจใช้จุดแข็งจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเป็นจุดขาย รวมถึงเดินหน้าตามนโยบายภาครัฐในการใช้ Soft Power มาต่อยอดสินค้าให้ส่งออกสู่ตลาดโลก ประการที่สอง คือ ยกระดับ SMEs ที่มีศักยภาพและเป็น Supplier ให้ผู้ส่งออกอยู่แล้วผันตัวเองไปส่งออกโดยตรง โดยเฉพาะ SMEs ที่ผลิตสินค้าในลักษณะรับจ้างผลิตหรือ OEM หากส่งเสริมให้มีแบรนด์ ช่องทางการค้า และความรู้ในการส่งออก การก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกก็ไม่ใช่เรื่องยาก และประการสุดท้าย การสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ที่ส่งออกอยู่แล้วสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น โดยงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ระบุว่าราว 70% ของผู้ส่งออกไทยส่งออกไปเพียง 1-2 ตลาดเท่านั้น ซึ่งการขยายตลาดส่งออกไม่เพียงช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังช่วยเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงหากตลาดใดตลาดหนึ่งประสบปัญหา

      อยากให้ท่านผู้อ่านนึกภาพตาม ปัจจุบันมีผู้ส่งออกเพียง 1% ของผู้ประกอบการรวม แต่สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP หรือเกือบ 10 ล้านล้านบาทในปี 2565 นั่นหมายความว่าหากสามารถเพิ่มจำนวนผู้ส่งออกได้มากขึ้นก็จะสร้างรายได้แก่ประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งการสร้างผู้ส่งออกในต่างจังหวัดก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นกลไกช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างหัวเมืองและต่างจังหวัด รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นให้เติบโต โดยเฉพาะการเชื่อมโยง Supply Chain ในท้องถิ่นกับการผลิตเพื่อส่งออก เพิ่มการจ้างงานและการอุปโภคบริโภคไปจนถึงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และเท่าเทียม

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview