Hot Issues

ญี่ปุ่นตัดสิทธิ์ GSP …แทบไม่กระทบกับการส่งออกของไทย

สถานการณ์สำคัญ

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นมีมติให้เพิ่มเงื่อนไขการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) ที่ญี่ปุ่นให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา จากเดิมที่จะตัดสิทธิ์เมื่อ “ประเทศที่ได้รับสิทธิ์เป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income) ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี” เป็นตัดสิทธิ์เมื่อ “ประเทศที่ได้รับสิทธิ์เป็นประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกในตลาดโลกมากกว่าร้อยละ 1 ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี และเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-Middle Income) ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี” โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจะมีผลให้ไทยถูกญี่ปุ่นตัดสิทธิ์ GSP ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป


ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน สหรัฐฯ และจีน ตัดสิทธิ์ GSP ที่ให้แก่ไทยในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยไม่มากนัก อีกทั้งผลที่เกิดขึ้นยังแตกต่างจากกรณีที่ EU เคยตัดสิทธิ์ GSP ไทยในช่วงก่อนหน้านี้

  • ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยพึ่งพาการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกไปญี่ปุ่นน้อยมาก ในปี 2561 ไทยใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นเพียง 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นทั้งหมดเกือบ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากไทยมีข้อตกลงทางการค้า (Free Trade Agreements : FTAs) กับญี่ปุ่นอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งลดภาษีนำเข้าในอัตราที่เท่ากันหรือเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำกว่าที่ได้จากสิทธิ์ GSP ทำให้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่หันไปใช้สิทธิ์ FTAs แทน
                 สำหรับสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการที่ญี่ปุ่นตัดสิทธิ์ GSP มีเพียงไม่กี่รายการ อาทิ ซอร์บิทอล (HS 290544) ที่ต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 10.2 (GSP) เป็นอัตราปกติที่ร้อยละ 17 (MFN Rate) และไม้บล็อกบอร์ด (HS 441294) เสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 (GSP) เป็นร้อยละ 5 (AJCEP)

  • ผลจากการถูกญี่ปุ่นตัดสิทธิ์ GSP แตกต่างจากกรณีที่ไทยเคยถูก EU ตัดสิทธิ์ GSP ในอดีต เนื่องจากในช่วงก่อนที่ไทยจะถูก EU ตัดสิทธิ์ GSP ผู้ส่งออกไทยพึ่งพาสิทธิ์ GSP อยู่ถึงราวร้อยละ 40 ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดไป EU ทำให้ไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการถูก EU ตัดสิทธิ์ GSP ในแต่ละรอบ ทั้งในปี 2555 ที่ EU ตัดสิทธิ์ GSP สินค้าบางส่วนจากไทย ทำให้มูลค่าส่งออกจากไทยไป EU ในปีนั้นลดลงถึงร้อยละ 10 และในปี 2558 ที่ EU ตัดสิทธิ์ GSP ไทยในทุกรายการสินค้า ส่งผลให้มูลค่าส่งออกจากไทยไป EU ลดลงร้อยละ 6 ขณะที่ปัจจุบันไทยพึ่งพาสิทธิ์ GSP เพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 0.03

  • สิทธิ์ GSP เป็นสิทธิพิเศษที่ได้รับเพียงชั่วคราวเพราะสิทธิ์ GSP เป็นสิทธิ์ที่ให้เปล่า ประเทศผู้ให้สิทธิ์จึงมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้สิทธิ์ ซึ่งโดยปกติเมื่อประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP มีการพัฒนาขึ้นถึงระดับหนึ่งที่พอจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ตามกลไกปกติแล้ว ประเทศที่ให้สิทธิ์ GSP ก็จะยกเลิกการให้สิทธิ์นั้น ต่างจากสิทธิพิเศษที่ได้จากการเจรจาทำข้อตกลงทางการค้า (FTAs) ที่ประเทศคู่เจรจาจะต้องต่อรองเงื่อนไขกันจนเป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อทำข้อตกลงกันแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามความพอใจของตนเองเพียงฝ่ายเดียวได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกที่อาศัยแต้มต่อทางภาษีจากสิทธิ์ GSP ในการส่งออกอยู่ จึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่าสิทธิ์ GSP ที่ใช้อยู่จะต้องหมดลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง จึงไม่ควรพึ่งพาแต่สิทธิ์ GSP ในการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหาแนวทางปรับตัว โดยการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้แก่สินค้า เพื่อให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภายใต้อัตราภาษีปกติได้

เกร็ดน่ารู้

## GSP เป็นระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา โดยการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก ส่งเสริมการสร้างรายได้ตลอดจนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเหล่านี้

## หลักการพื้นฐานของสิทธิ์ GSP คือ เป็นการให้สิทธิ์ทั่วไปโดยไม่หวังผลตอบแทนและไม่เลือกปฏิบัติ แต่ประเทศที่ให้สิทธิ์ GSP อาจระงับหรือยกเลิกการให้สิทธิ์ GSP ได้ หากเห็นว่าประเทศที่ได้รับสิทธิ์มีการพัฒนาขึ้นจนมีฐานะดีหรือมีความสามารถในการแข่งขันมากพอ หรือเห็นว่าการให้สิทธิ์ GSP ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศผู้ให้สิทธิ์

## ปัจจุบันมีประเทศที่ให้สิทธิ์ GSP แก่ไทยทั้งสิ้น 4 ประเทศ และ 1 กลุ่มการค้า ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซียและเครือรัฐเอกราช ขณะที่ EU ตัดสิทธิ์ GSP ไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 และญี่ปุ่นกำลังจะตัดสิทธิ์ GSP ไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562


  • Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • การส่งออกสินค้าไทยท่ามกลางตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน

    ประเด็นสำคัญ ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน 9 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างจีน เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย ...

    calendar icon20.04.2021
  • ไข้หวัดนกระบาดในญี่ปุ่น ... โอกาสของผู้ส่งออกไทย

    สถานการณ์สำคัญ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ญี่ปุ่นเริ่มพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง (HPAI) ในฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มไก่เนื้อในจังหวัดคางาวะ (Kagawa) ทำให้ต้องกำจัดไก่ไข่และไก่เนื้อในฟาร์มที่มีการระบาด รวมถึงที่อยู่ใน...

    calendar icon30.12.2020
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview