Hot Issues

ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย

ประเด็นสำคัญ

  • EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563
  • ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ความโปร่งใสด้านการจัดเก็บภาษี การขนส่ง พลังงานและความยั่งยืน และการประมง
  • สาระสำคัญของข้อตกลงอยู่ที่สิทธิ์การค้าสินค้าที่ปลอดภาษีและโควตานำเข้าสินค้าที่ทำให้ UK ยังได้ประโยชน์จากตลาด EU
  • แม้บรรลุข้อตกลง แต่ยังคงมีปัญหาและความท้าทายอื่นๆ ที่ UK ต้องเผชิญ โดยเฉพาะภาคการเงินของ UK ต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงตลาด EU รวมถึงแรงงานวิชาชีพของ UK ยังไม่ได้รับการรับรองโดยอัตโนมัติในการทำงานใน EU และการเดินทางเข้า EU ยังมีข้อจำกัด
  • การแยกตัวออกจาก EU ทำให้ UK เปลี่ยนไปใช้โครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่เป็นของตนเอง คือ UK Global Tariff (UKGT) ทำให้การส่งออกของไทยจะได้อานิสงส์จากโครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของ UK ที่ลดลง

 

สหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร (UK) บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันกรณี UK แยกตัวออกจาก EU หรือ Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 หลังจากการเจรจาข้อตกลงดังกล่าวยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ซึ่งการบรรลุข้อตกลงได้สร้างความผ่อนคลายให้กับภาคธุรกิจของ UK นับตั้งแต่การทำประชามติของ UK เพื่อแยกตัวออกจาก EU เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังลดแรงตึงเครียดทางเศรษฐกิจของ UK ได้ในระดับหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ ล่าสุดประเทศสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศได้อนุมัติข้อตกลงดังกล่าวแล้ว และข้อตกลงมีผลบังคับใช้ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยหลังจากนี้รัฐสภายุโรปจะให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงในเดือน ก.พ. 2564 เพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

 

สาระสำคัญของข้อตกลงหลัง Brexit

ข้อตกลงฉบับนี้จะครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือระหว่าง EU และ UK อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ความโปร่งใสด้านการจัดเก็บภาษี การขนส่ง พลังงานและความยั่งยืน และการประมง โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

  • การคงสิทธิ์ด้านการค้าสินค้าที่ปลอดภาษีและโควตานำเข้าสินค้า (Zero Tariff-Zero Quota) ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าและการกำหนดโควตานำเข้าสินค้าระหว่างกัน ขณะเดียวกัน ยังกำหนดกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ร่วมกันไว้ตามเดิม ทำให้ UK ยังคงได้ประโยชน์จากระบบตลาดเดียว (Single Market) ของ EU อย่างไรก็ตาม พิธีการศุลกากรของการค้าระหว่างกันจะมีเอกสารที่ต้องใช้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอาหารของทั้งสองฝ่ายยังต้องผ่านการรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของประเทศปลายทางเช่นเดียวกับระเบียบปฏิบัติของประเทศนอก EU ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายในระดับหนึ่ง
  • การส่งเสริมการแข่งขันในภาคธุรกิจอย่างเป็นธรรม โดยทั้งสองฝ่ายต้องรักษาระดับมาตรฐานและเกณฑ์ความเข้มงวดในด้านต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจไว้ในระดับเดียวกัน เช่น มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานด้านแรงงาน ตลอดจนระดับการอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อให้การแข่งขันของภาคธุรกิจระหว่าง EU และ UK เป็นไปอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายใดมีการลดระดับมาตรฐานดังกล่าวหรือมีการอุดหนุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น อีกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้
  • การจัดการสิทธิ์การประมงในน่านน้ำของ UK โดย EU ต้องลดโควตาการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำของ UK ลง 25% ภายในระยะเวลา 5 ปีครึ่ง หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายจะกลับมาเจรจาโควตาการจับสัตว์น้ำอีกครั้งแบบปีต่อปี

 

ปัญหาที่ UK ยังต้องเผชิญแม้บรรลุข้อตกลง

แม้การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้การค้าระหว่าง EU และ UK ดำเนินต่อไปได้ แต่ยังคงมีปัญหาและความท้าทายอื่นๆ ที่ UK ต้องเผชิญหลังการแยกตัวออกจาก EU ดังนี้

  • ภาคการเงินของ UK เผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงตลาด EU เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวเน้นเฉพาะการค้าเสรีทางด้านสินค้าเป็นหลัก ขณะที่ภาคบริการส่วนใหญ่ รวมถึงภาคการเงิน ยังไม่มีบทสรุปในข้อตกลงดังกล่าว ทำให้อนาคตของภาคการเงินใน UK ยังคลุมเครือ และก่อให้เกิดความกังวลว่าสถาบันการเงินใน UK จะสูญเสียประโยชน์ในการเข้าถึงตลาด EU และอาจทำให้กรุงลอนดอนเสียตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินในยุโรปให้กับเมืองคู่แข่งสำคัญอย่างเมืองแฟรงเฟิร์ตของเยอรมนี และกรุงปารีสของฝรั่งเศส โดยตั้งแต่การลงประชามติ Brexit ในปี 2559 สถาบันการเงินหลายแห่งใน UK ได้โยกย้ายสินทรัพย์ราว 1.2 ล้านล้านปอนด์และการจ้างงานอีก 7,500 ตำแหน่ง ออกจาก UK ไปยัง EU เพื่อเตรียมพร้อมกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับภาคการเงินของ UK ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง EU และ UK จะเปิดการเจรจาเกี่ยวกับภาคบริการ รวมถึงภาคการเงิน เพิ่มเติมในระยะข้างหน้า เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความเกี่ยวเนื่องกันในภาคบริการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะ UK ซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาภาคบริการสูงถึง 80% ต่อ GDP ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการแยกตัวออกจาก EU
  • แรงงานวิชาชีพยังไม่ได้การรับรองโดยอัตโนมัติ แรงงานวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร และสถาปนิก ของ UK ที่ต้องการย้ายไปทำงานใน EU ต้องขอใบรับรองคุณสมบัติด้านวิชาชีพจากแต่ละประเทศสมาชิก EU ก่อนที่จะเข้าไปทำงาน ไม่ได้รับอนุญาตโดยอัตโนมัติเช่นเดิม
  • การเดินทางเข้า EU ยังมีข้อจำกัด โดยชาว UK จะไม่สามารถเดินทางเข้า EU ได้อย่างเสรีอีกต่อไป ซึ่งภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวชาว UK สามารถเดินทางเยือน EU ได้ 90 วัน ซึ่งหากประสงค์จะอยู่ใน EU เกิน 90 วันต้องขอวีซ่า ซึ่งรวมถึงวีซ่าการทำงานและวีซ่านักเรียนด้วย

 

ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไป UK

การส่งออกของไทยจะได้อานิสงส์จากโครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของ UK ที่ลดลง เนื่องจากการที่ UK แยกตัวออกจาก EU ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 UK จะเปลี่ยนไปใช้โครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของตนเอง คือ UK Global Tariff (UKGT) ทดแทน EU Common External Tariff โดยอัตราภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ภายใต้ UKGT ปรับลดลงกว่าเดิม ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไป UK จะเสียภาษีต่ำกว่าการส่งออกไป EU ขณะเดียวกัน ภายใต้ระบบ UKGT ยังมีการยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าถึง 60% ของรายการสินค้านำเข้าทั้งหมด เพื่อลดต้นทุนการบริโภคให้กับผู้บริโภคใน UK ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศที่ส่งออกสินค้าไปตลาด UK รวมถึงไทย ทั้งนี้ สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีภายใต้ระบบ UKGT ครอบคลุมสินค้าส่งออกหลักของไทยไป UK หลายประเภท ได้แก่ ถุงมือยาง (อัตราภาษีนำเข้าลดลงจาก 2.7% เหลือ 2%)  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (0-22% เหลือ 0-18%) อัญมณีและเครื่องประดับ (2.5% เหลือ 2%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (2.5% เหลือ 2%) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (6.5% เหลือ 6%) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ (1.7% เหลือ 0%) และสิ่งปรุงรสอาหาร (7.7% เหลือ 6%) เป็นต้น

 

ความเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ

แม้การบรรลุข้อตกลงหลัง Brexit จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ UK ได้ในระดับหนึ่ง แต่ UK ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงของ COVID-19 ที่กลายพันธุ์ในประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ UK อันจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจ UK กลับมาเผชิญภาวะหดตัวในไตรมาส 4 ของปี 2563 และไตรมาสแรกของปี 2564 และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไป UK อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า จากการที่ UK แยกตัวออกจาก EU ทำให้ UK สามารถเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้านอก EU ได้ ซึ่งที่ผ่านมา UK ได้บรรลุข้อตกลงการค้าหลายฉบับครอบคลุมประเทศคู่ค้ากว่า 50 ประเทศ โดยล่าสุด UK ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 ทำให้ไทยต้องเร่งเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการจัดทำ Jont Trade Review กับ UK สำหรับต่อยอดไปสู่การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีต่อไป เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาด UK ได้มากขึ้น มิเช่นนั้นสินค้าไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันกับสินค้าของประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับ UK โดยเฉพาะเวียดนามที่มีการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้า 99% ของรายการสินค้าที่มีการค้าขายกับ UK

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview