Hot Issues
ประเด็นสำคัญ |
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 บริษัท Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ต้องประกาศระงับการผลิตของ Oil Processing Facilities 2 แห่งในเขต Abqaiq และ Khurais ซึ่งเป็น Oil Processing Facilities ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของซาอุดีอาระเบีย หลังจากถูกโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ จนทำให้เกิดไฟลุกไหม้และได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งการระงับการผลิตน้ำมันดังกล่าวมีปริมาณ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมดของซาอุดีอาระเบียที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือกว่า 5% ของอุปทานน้ำมันดิบโลก ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทะยานขึ้นทันที เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียดยิ่งขึ้นและได้จุดชนวนความกังวลในหลายด้าน ดังนี้
สถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ภายหลังการโจมตี Oil Processing Facilities ทั้งสองแห่งในซาอุดีอาระเบีย กลุ่มกบฏ Houthi ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในเยเมนได้ออกมาประกาศเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ 10 ลำ โจมตี Oil Processing Facilities ทั้งสองแห่ง อย่างไรก็ตาม ทางการซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าเป็นการโจมตีของกลุ่มกบฏ Houthi เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าการโจมตีมาจากเยเมน แต่เชื่อว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นมีอิหร่านอยู่เบื้องหลัง ขณะที่อิหร่านได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวทันที ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้จุดชนวนความขัดแย้งในภูมิภาคระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านขึ้นอีกครั้ง ซึ่งมีความเสี่ยงที่สถานการณ์อาจลุกลามและเกิดการตอบโต้ด้วยกำลังทางทหาร จนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ หากมีหลักฐานชี้ชัดว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีดังกล่าว อาจทำให้สหรัฐฯ ยกเลิกการผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น
สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก
เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นได้บั่นทอนกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียไปกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งทันทีที่ตลาดน้ำมันดิบเปิดทำการในวันที่ 16 กันยายน 2562 ราคาน้ำมันดิบได้ปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 เดือน โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้นทันที 20% แตะระดับ 71.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ US Light Sweet Crude ปรับขึ้นทันที 15% แตะระดับ 63.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้ลดความร้อนแรงลงก่อนปิดตลาด หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) เพื่อรักษาอุปทานน้ำมันในตลาดโลกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าซาอุดีอาระเบียอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการซ่อมแซม Oil Processing Facilities ทั้งสองแห่งให้กลับมาผลิตน้ำมันได้ตามปกติ แต่หากกำลังการผลิตยังหายไปต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มจะปรับขึ้นเหนือระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
>> ภาพรวมพลังงานไทย
- ด้านราคา : ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้นในระยะข้างหน้า โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยปรับขึ้นราว 20 สตางค์ต่อลิตร
- ด้านปริมาณ : ซาอุดีอาระเบียเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบราว 20% ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของไทย ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันของไทยที่นำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียอาจต้องเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอื่นทดแทน ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด 54 วัน โดยไม่ประสบปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำมันในประเทศ แบ่งเป็นปริมาณสำรองน้ำมันดิบในประเทศ 3,366 ล้านลิตร สำรองได้ 28 วัน ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 1,193 ล้านลิตร สำรองได้ 10 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 1,848 ล้านลิตร สำรองได้ 16 วัน
>> กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
ในระยะสั้น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นอาจกระทบผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาจำหน่ายได้เพียงบางส่วน อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผลกระทบจะต่างกันในแต่ละธุรกิจ โดยธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่
- โรงกลั่นน้ำมันสำเร็จรูป : โรงกลั่นที่พึ่งพาน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียอาจต้องเตรียมแผนนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอื่นทดแทนและเผชิญต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่อาจไม่ส่งผลต่อกำไรมากนัก เนื่องจากสามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปได้ หากรัฐบาลไม่มีนโยบายตรึงราคาน้ำมันสำเร็จรูป
- ผู้ผลิตปิโตรเคมี : ต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้น และอาจมีอัตรากำไรลดลง เนื่องจากราคาจำหน่ายไม่สามารถปรับขึ้นได้ทันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
- ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ : ต้นทุนการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น
ในระยะยาว ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมประมง อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรบางประเภทอาจได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ราคามักมีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันในทิศทางเดียวกัน อาทิ ยางพารา และถั่วเหลือง
-
ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน กระทบเศรษฐกิจจีน กระเทือนถึงไทย
KEY TAKEAWAYS บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซา ปัญหาภาคอสังหาฯ ส่งผลกระทบให้รายได้ธนาคารลดลงและ NPLs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สถานะโดยรวมยังแข็งแกร่ง แนวโน้มเศร...
09.10.2023 -
Fossil Disruption กับผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน
ประเด็นสำคัญ ความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนทำให้ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่จริงจังกับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ภายในปี 2593 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว พลังงานจากฟอสซิลจะเป็นอุตสาหกรรม...
17.06.2021
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019