Hot Issues
ภาวะ Shutdown ของสหรัฐฯ ยืดเยื้อเป็นประวัติการณ์
ประเด็นสำคัญ
-
- ภาวะ Shutdown ของสหรัฐฯ ทำสถิติยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์จากความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นการสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโก
- หากภาวะ Shutdown ยิ่งยืดเยื้อจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย S&P ประเมินว่าภาวะ Shutdown ที่ดำเนินมากว่า 3 สัปดาห์สร้าง
ความเสียหายแล้วเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ - ความเสี่ยงที่ภาคส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมีเพิ่มขึ้น หากภาวะ Shutdown ยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้โดยเร็วจนกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ
การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ บางส่วน (Federal Government Shutdown) หรือภาวะ Shutdown เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการงัดข้อทางการเมืองในประเด็นนโยบายสำคัญระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งตัวแทนจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตมักสลับกันครองอำนาจในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างเช่นสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เกิดภาวะ Shutdown เป็นเวลา 16 วัน จากประเด็นโครงการประกันสุขภาพ (Obama Care) ทั้งนี้ ล่าสุดสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะ Shutdown อีกครั้ง และถือเป็นครั้งที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ภาวะ Shutdown สมัยประธานาธิบดีทรัมป์…ทำสถิติยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์
- สหรัฐฯ จำเป็นต้องปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลกลางบางส่วน (ราว 1 ใน 4 ของทั้งหมด) นับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 โดยหน่วยงานที่ปิดทำการประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ สวนสาธารณะ อนุสรณ์สถาน และพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานบางส่วนด้านพาณิชย์ ด้านการศึกษา และกระทรวงยุติธรรม ส่งผลให้พนักงานของรัฐบาลกลางราว 8 แสนคน ต้องหยุดงานหรือบางส่วนต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากรัฐบาลกลางไม่มีงบประมาณในการจ่ายเงินเดือน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในหลายเมืองเริ่มชุมนุมประท้วงภาวะ Shutdown ที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการ Shutdown ในรอบนี้มาจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครตกับรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการให้มีการบรรจุงบประมาณสำหรับสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโก โดยประธานาธิบดีทรัมป์ยื่นคำขาดว่าจะไม่ลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณหากการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกไม่รวมอยู่ในงบประมาณ รวมทั้งเคยประกาศว่าอาจประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อใช้อำนาจประธานาธิบดีออกกฎหมายพิเศษสำหรับการสร้างกำแพงเพื่อไม่ต้องขออนุมัติจากสภาคองเกรส โดยใช้งบประมาณที่มีการจัดสรรไว้แล้วสำหรับกองทัพ
- ภาวะ Shutdown สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำสถิติยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังยืดเยื้อผ่านเข้าสู่วันที่ 22 เมื่อ 12 มกราคม 2562 เทียบกับสถิติสูงสุดเก่าที่สหรัฐฯ เคยเผชิญภาวะดังกล่าวเป็นเวลา 21 วันเมื่อช่วงปลายปี 2538 ถึงต้นเดือนมกราคม 2539 โดย ภาวะ Shutdown ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้โดยเร็วในครั้งนี้ นับเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากจะมีส่วนซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2562 ที่กำลังฟื้นตัวอย่างเปราะบางท่ามกลางสงครามการค้ากับจีนที่ยังคงไม่มีบทสรุป
ผลกระทบ...ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งเสียหาย
- สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (White House Council of Economic Advisers) ประเมินว่าภาวะ Shutdown จะส่งผลให้ GDP สหรัฐฯ ลดลง 0.1% ในทุก 2 สัปดาห์ ขณะที่ S&P Global Ratings ประเมินว่าการหยุดทำการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทุก 1 สัปดาห์ ซึ่งการที่ภาวะดังกล่าวดำเนินมากว่า 3 สัปดาห์ ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจแล้วเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินไปอีก 2 สัปดาห์ ความเสียหายดังกล่าวจะสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่างบประมาณในการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกที่กำลังเป็นประเด็นความขัดแย้งสำคัญในขณะนี้
- Fitch Ratings ระบุว่าอาจพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารทางการเงินของสหรัฐฯ ลงจากระดับ AAA ในปัจจุบัน หากปัญหาการปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลกลางยังยืดเยื้อจนถึงเดือนมีนาคม 2562 เนื่องจากจะถูกซ้ำเติมจากปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ* ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากหากมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวจะถือเป็นครั้งที่ 2** ในประวัติศาสตร์ที่ตราสารทางการเงินของสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
ความคิดเห็นของฝ่ายวิจัยธุรกิจ
- ฝ่ายวิจัยธุรกิจเห็นว่าสถานการณ์ Shutdown มีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2562 ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ที่3% (คาดการณ์โดย Economist Intelligence Unit) เนื่องจากคาดว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่ใช้มาตรการภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นวิธีรวดเร็วในการยุติความขัดแย้งในเรื่องงบประมาณสร้างกำแพง เพราะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบและมีแนวโน้มถูกฟ้องร้องต่อศาลสูงสหรัฐฯ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อคะแนนนิยมของพรรครีพับลิกันและประธานาธิบดีทรัมป์
- ภาคส่งออกของไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามสถานการณ์ Shutdown ที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 คิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย และนับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
-
*สหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดดุลการคลังเรื้อรังทำให้มีหนี้สาธารณะในระดับสูง (ราว 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนมีนาคม 2561) ซึ่งแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีกฎหมายที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้เพื่อไม่ให้รัฐบาลก่อหนี้ในระดับสูงมากจนนำมาซึ่งความเสี่ยงทางการคลัง แต่ที่ผ่านมาสภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายเพื่อเพิ่มหรือยกเว้นเกณฑ์เพดานหนี้มาโดยตลอด เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอใช้จ่าย ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินมาตรการยกเว้นเกณฑ์เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2562 เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการออกตราสารหนี้เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายต่อไปได้ ดังนั้น เมื่อมาตรการดังกล่าวมีกำหนดหมดอายุลงในเดือนมีนาคม 2562 สมาชิกสภาคองเกรสต้องเจรจารอบใหม่ในการผ่านกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอีกครั้ง
**ตราสารทางการเงินของสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดย S&P ในปี 2554 อันเป็นผลจากการเจรจาต่อรองทางการเมืองที่ยาวนานในการผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ
ที่เกี่ยวข้อง
-
จีนอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ …เพิ่มความท้าทายต่อการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย
สถานการณ์สำคัญ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งซึ่งเป็นสินค้าดาวรุ่งของไทยในตลาดจีนในปี 2562 คาดว่าจะต้องเผชิญความท้าทายจากการเข้ามาแข่งขันของไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของสหรัฐฯ หลังจีนประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ ตั้งแ...
24.12.2019 -
สงครามการค้าระอุ หลังสหรัฐฯ จ่อขึ้นภาษีสินค้า EU
ประเด็นสำคัญ สหรัฐฯ กำลังพิจารณา เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU จำนวน 89 รายการ วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเติมจากรายการที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้ว่าจะเรียกเก็บเมื่อเดือนเมษายน 2562 วงเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรั...
03.07.2019
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019