บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

พลิกธุรกิจ SMEs ไทย มองหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

จากหลายวิกฤตที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการ SMEs มักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นเวลานาน อย่างวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น เพราะกว่า 98% ของ SMEs ยังคงพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงตลาดเดียว และ SMEs ส่วนใหญ่มีเงินทุนสำรองไม่มากพอจะประคองธุรกิจได้นานจนตลาดฟื้นตัว การปรับตัวของ SMEs เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ จึงควรเป็นการมองหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

ทำไม SMEs จึงควรก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกในตอนนี้

ปัจจุบันนับเป็นจังหวะดีที่ SMEs จะขยับออกจากตลาดเดิมๆ ไปแสวงหาโอกาสในตลาดโลก เพราะแม้เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทย จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากวิกฤต COVID-19 แล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติของไทยมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร ส่งผลให้ SMEs ที่พึ่งพาตลาดในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักยังต้องเหนื่อยยากกับการหารายได้เพื่อประคองธุรกิจ ทั้งนี้ จากคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เหลือขยายตัว 2.5-3.5% จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 3.5-4.5% พร้อมคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงเหลือเพียง 3.2 ล้านคน จากปกติที่ราว 30-40 ล้านคน ขณะที่ภาคส่งออกจะกลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัวถึง 5.8% เนื่องจากตลาดส่งออกหลายแห่งมีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวดีหลังจากมีการใช้วัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว

นอกจากนี้ การมุ่งตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนลดลงเรื่อยๆ จากขนาดตลาดที่เล็กลง เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (มีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด) แล้วในปี 2564 และอีกราว 20 ปีข้างหน้าผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่ง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เพิ่มความสะดวกในการสั่งซื้อและนำเข้าสินค้า

ตลาดส่งออกใดที่น่าสนใจสำหรับ SMEs

ตลาด CLMV มักเป็นเป้าหมายแรกๆ ของ SMEs ที่เริ่มต้นส่งออก เนื่องจากผู้บริโภครู้จักและคุ้นเคยกับสินค้าของไทยเป็นอย่างดี การทำตลาดและการติดต่อธุรกิจจึงทำได้ไม่ยากนัก ขณะที่การขนส่งสินค้าและข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนจะเป็นแต้มต่อสำคัญสำหรับสินค้าไทยในการบุกตลาด CLMV นอกจากนี้ การที่รัฐสภาไทยเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็น FTA
ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ประกอบด้วยประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และคาดว่าจะเริ่มใช้บังคับต้นปี 2565 จะเป็นอีกโอกาสสำคัญของ SMEs ไทยในการขยายตลาดไปให้ไกลกว่าเดิม เพราะนอกจาก RCEP จะทำให้สินค้าของไทยหลายรายการ อาทิ น้ำมะพร้าว อาหารแปรรูป และเครื่องแต่งกาย ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA ก่อนหน้านี้แล้ว RCEP ยังช่วยลดความยุ่งยากของการปฏิบัติตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าลง และทำให้การส่งออกสะดวกรวดเร็วขึ้นอีกด้วย

นอกจากตลาด CLMV แล้ว ปัจจุบันยังเป็นจังหวะที่ดีในการรุกตลาดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และฟื้นตัวเร็วเช่นสหรัฐฯ เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังไม่ยุติ โดยทั้งสองประเทศยังเรียกเก็บภาษีระหว่างกันในอัตราสูง SMEs ไทยจึงมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ  แทนที่จีน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องประดับ

เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้พลิกธุรกิจมาส่งออกได้เป็นผลสำเร็จ และลดความเสี่ยงที่เกิดจากการลองผิดลองถูกในการรุกตลาดส่งออก  EXIM BANK จึงได้พัฒนาระบบประเมินความพร้อมของผู้ส่งออกไทยที่เรียกสั้นๆ ว่า TERAK (ที่รัก) เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของธุรกิจแบบเชิงลึก พร้อมคำแนะนำในการพัฒนาธุรกิจก่อนเริ่มต้นส่งออก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถขอคำปรึกษาและเข้าร่วมโครงการอบรมสัมมนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC) เพื่อเพิ่มเติมความรู้ด้านการส่งออกได้ตลอดทั้งปี

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview