บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

รุก ESG แบบ Less is More ... ทางรอดรับเศรษฐกิจโลกอ่อนแรง

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี หลายท่านคงกำลังทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาและเตรียมแผนรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ โดยเฉพาะเมื่อ IMF เตือนว่ามีโอกาสถึง 1 ใน 4 ที่เศรษฐกิจโลกจะโตต่ำกว่า 2% ในปี 2566 จึงได้ยินผู้ประกอบการพูดถึงการหาช่องทางลดค่าใช้จ่าย หรือปรับลดพนักงานอยู่เป็นระยะ แต่การตั้งโจทย์ธุรกิจที่มุ่งเป้าหมายระยะสั้นเป็นหลักอาจนำมาซึ่งแผนธุรกิจที่ไม่ดีนัก เพราะการดำเนินธุรกิจเป็นเกมของการเดินทางระยะไกล ธุรกิจจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมตอบโจทย์รอบด้าน ทั้งจากภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินผันผวน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ยังสูง จนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม และที่สำคัญคือปัญหาสิ่งแวดล้อม วันนี้ผมจึงตั้งใจจะพูดถึงหนึ่งในทางเลือกปรับตัวที่ผู้ประกอบการทั่วโลกนำมาใช้เพิ่มขึ้น เพื่อพลิกเกมและสร้างแต้มต่อทางธุรกิจในระยะยาว ขอเรียกง่ายๆ ว่าแผนธุรกิจภายใต้ความยั่งยืน หรือ ESG (Environment, Social and Governance)

แม้ผมและอีกหลายหน่วยงานได้พูดถึง ESG บ่อยครั้ง ทั้งในบทความและในงานเสวนาต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการรับรู้และการนำไปปรับใช้ของภาคเอกชน โดยเฉพาะ SMEs ของไทย ยังมีอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดฝั่งตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ที่ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก การวางแผนปรับธุรกิจสู่ ESG จึงกลายเป็นไฟต์บังคับสำหรับการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากลในปัจจุบัน  และด้วยเหตุที่ธุรกิจไม่อาจเติบโต ในโลกที่กำลังผุพังได้ ท้ายที่สุดแล้วทุกธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ก็ต้องปรับเข้าสู่ ESG  สำหรับผู้ที่ยังลังเลในการก้าวสู่ ESG ผมขอให้มั่นใจว่า เมื่อท่านทำดีแล้ว ย่อมได้ดี และมีคนเห็น ครับ

>>> ทำดีได้ดี : ESG ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมักนำไปสู่วิธีดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างการดำเนินโครงการสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ในปี 2564 อาทิ การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานและคลังสินค้า และการพัฒนาบริการรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น รับใบเสร็จแบบ E-Receipt เพื่อลดการใช้กระดาษ ไม่เพียงช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้รวมกัน 14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายรวมกันมากถึงกว่า 1,700 ล้านบาท หรือการที่เกษตรกรเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนจากการใช้สารเคมีแล้ว สินค้าอินทรีย์ยังเข้าถึงตลาด Premium มากขึ้น การที่โรงแรมและร้านอาหารที่ปรับตัวสู่ความยั่งยืนด้วยการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ ยังช่วยลดต้นทุนจากการใช้วัตถุดิบที่ต้องขนส่งมาไกลอีกด้วย

>>> ทำดีมีคนเห็น : ESG ช่วยให้สินค้ามีภาพลักษณ์โดดเด่นขึ้นในสายตาผู้บริโภค
ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและยอมที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น การเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนยานยนต์ใช้น้ำมันที่เติบโตขึ้น โดย International Energy Agency (IEA) ประมาณการว่ายอดจำหน่าย EV โลกจะมีสัดส่วน 60% ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Euromonitor ปี 2564 พบว่า ผู้บริโภคที่รักษ์โลกไม่ได้มีแต่ผู้มีรายได้สูงเท่านั้น แต่กระจายตัวอยู่ในทุกระดับรายได้ โดยไม่ว่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะวางจำหน่ายในระดับราคาใด ก็จะมีผู้บริโภคราว 1 ใน 5 ที่ต้องการซื้อสินค้านั้นอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ผมมีข้อสังเกตว่ารายชื่อบริษัทจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
จาก 51 บริษัท ในปี 2558 เป็น 147 บริษัท ในปี 2564 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยสนใจก้าวสู่  ESG กันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม การปรับใช้ ESG ก็ต้องมีกลยุทธ์ ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นปัจจุบันกลยุทธ์ที่ควรนำมาใช้คือการเลือกโครงการที่มีลักษณะ Less is more หรือลงทุนไม่สูงนักแต่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า อาทิ การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆ กัน เช่น ปรับบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดพอดีกับสินค้าเพื่อลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีลวดลายน้อยลง หรือมีช่องโชว์สินค้า ทดแทนการพิมพ์ลาย เพื่อลดการใช้สีในการพิมพ์ ซึ่งเป็นวิถีที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะผลสำรวจของ Euromonitor ปี 2565 พบว่า พลาสติกและบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งแรกๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน หรืออาจเลือกลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถรับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก BOI ได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 คงจะไม่แย่ไปกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ และหวังว่าจะส่งผลกระทบไม่มากพร้อมกับฟื้นตัวได้ไว ผมขอให้กำลังใจผู้ประกอบการทุกท่านให้นำพาธุรกิจฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งผมเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นแล้วเสียเปล่า แต่จะสร้างประสบการณ์และความกล้าที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจผ่านวิกฤตไปได้

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

Related
more icon
  • Transform ธุรกิจท่องเที่ยวไทยสู่หมุดหมายความยั่งยืน

    บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากวิกฤต Climate Change ที่รุนแรง ส่งผลให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศราว 8-11% ของทั้...

    calendar icon18.11.2023
  • เช็กความฟิตโค้งสุดท้าย ก่อน EU ประกาศใช้มาตรการ CBAM

    เหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนแล้วนะครับที่ EU จะเริ่มใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ในวันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ผมจึงอยากชวนทุกท่านมาทบทวนความเข้าใจและเตรียมความพร้อมแก่ธุ...

    calendar icon17.06.2023
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview