บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

ASEAN กับ พร 3 ประการนำพาสู่ Green Era

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มจะร้อนทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 หรือในปี 2567 ขณะเดียวกันเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาหลายประเทศในอาเซียนเผชิญกับอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ข้อมูลตรงนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นชัดว่าผลกระทบจากโลกร้อนเข้าใกล้เรามาทุกทีแล้วนะครับ และที่น่ากังวลใจก็คือ อาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ ตามรายงานของ Global Climate Risk Index พบว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ถูกจัดอยู่ใน 15 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด

แม้อาเซียนดูเหมือนจะโชคไม่ดีจากผลกระทบรุนแรงของภาวะโลกร้อน แต่สิ่งบอกเหตุนึ้คงไม่ใช่อนาคตที่
ชาวอาเซียนต้องการให้เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าพวกเราสามารถฝืนชะตาได้หากอาเซียนจะใช้จังหวะนี้ในการกระตุ้นความตระหนักรู้และหาทางร่วมมือกันอย่างแนบแน่นเพื่อนำพาภูมิภาคนี้ก้าวสู่ “Green Era” หรืออนาคตการเป็นตลาดการค้า-การลงทุนที่เติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผมยังมองเห็นศักยภาพของอาเซียนทั้งในด้านตลาด ทรัพยากร และนโยบาย ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็น “พร 3 ประการ”  ที่จะบันดาลให้อาเซียนก้าวสู่ Green Era ได้เป็นผลสำเร็จในเร็ววันนี้ ดังนี้

พรข้อที่ 1…ตลาดพร้อม : อาเซียนมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในตลาดสินค้าและบริการสีเขียวที่เติบโตสูงของโลก

>>> จำนวนประชากรและรายได้ต่อหัวของอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย World Bank คาดว่าประชากรอาเซียนในระหว่างปี 2565-2585 จะเพิ่มขึ้นจาก 680 ล้านคน เป็น 770 ล้านคน หรือเติบโตราว 13% สูงกว่าอัตราการเติบโตของหลายภูมิภาค อาทิ เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่จะเติบโตเพียง 8% อเมริกาเหนือ 9% ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 11% ขณะที่ EU หดตัว 4% อีกทั้งรายได้ต่อหัวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน โดย IMF คาดว่ารายได้ต่อหัวของประชากรอาเซียนในช่วงปี 2565-2571 จะเพิ่มขึ้นถึงราว 44% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของโลกที่จะเพิ่มขึ้น 27%

>>> ผู้บริโภคอาเซียนตื่นตัวประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สะท้อนได้จากผลสำรวจหลายแหล่งที่เห็นตรงกัน อาทิ Milieu Insight Surveys พบว่า 64% หรือเกินครึ่งของประชากรอาเซียนต้องการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง 67% ของประชากรอาเซียนยัง เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ลดการใช้พลาสติก รวมถึงนำของกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของ ASEAN Sei-katsu-sha Studies 2020 ที่รายงานว่า 81% ของประชากรอาเซียนยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สูงกว่าญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วน 77%

การที่ตลาดอาเซียนมีแนวโน้มจะเป็นตลาดสีเขียวที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคในอาเซียนและพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น ผมมองว่าเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างดีที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอาเซียนเร่งปรับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืนเนื่องจากมีตลาดขนาดใหญ่รองรับ

พรข้อที่ 2…ทรัพยากรพร้อม : อาเซียนมีทรัพยากรที่พร้อมจะยกระดับเป็นฐานการผลิตสีเขียว

>>> อาเซียนมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งในแง่ความหลากหลาย โดยมีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีมากจากการที่ทุกประเทศในอาเซียนอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ ตลอดจนพลังงานความร้อนใต้พิภพ และในแง่ปริมาณที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากสมาชิกอาเซียนมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มบทบาทของพลังงานหมุนเวียนในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ เช่น ไทยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2580 มาเลเซียเพิ่มเป็น 40% ภายในปี 2578 และกัมพูชาเพิ่มเป็น 65% ภายในปี 2573 โดย International Renewable Energy Agency (IRENA) ประเมินว่าอาเซียนมีศักยภาพที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 19% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2561 เป็น 65% ได้ภายในปี 2593

ผมเชื่อว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอาเซียนจะเป็นแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดบริษัทให้เข้ามา
ตั้งฐานการผลิตในอาเซียนมากขึ้น
เพราะปัจจุบันความพร้อมด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศปลายทางกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ภาคธุรกิจนำมาใช้พิจารณาเลือกสถานที่ตั้งฐานการผลิต เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของโลก อาทิ EU สหรัฐฯ และจีน ต่างเตรียมนำมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากประเทศคู่ค้ามาใช้ รวมถึงผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาดในการผลิตมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างกรณีของ Amazon Web Service (AWS) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Cloud Computing ระดับโลกที่ประกาศลงทุนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในประเทศไทยมูลค่า 1.9 แสนล้านบาท โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ AWS เลือกไทยก็คือการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เพียงพอรองรับการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคที่ต้องการใช้พลังงานสูงมาก พร้อมกันนี้ AWS ยังต้องการให้ศูนย์ข้อมูลนี้ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อีกด้วย

>>> อาเซียนมีทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมถึง Supply Chain การผลิตที่พร้อมจะยกระดับหรือต่อยอดสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ EV ซึ่งอาเซียนมีโอกาสสูงที่จะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในภูมิภาคและกลายเป็นฐานการผลิต EV ของโลก ด้วยแต้มต่อจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันระดับโลกมาก่อน จึงมีความพร้อมทั้งด้านทักษะแรงงาน และ Supply Chain ชิ้นส่วนยานยนต์หลายชนิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับ EV ได้ เช่น ยางล้อ เบาะรถ ถุงลม เข็มขัดนิรภัย ซึ่งปัจจุบันครึ่งหนึ่งของสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด 40 อันดับแรกของโลก ยิ่งไปกว่านั้น อาเซียนยังมีแหล่งทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ EV อย่างนิกเกิล ซึ่งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีสัดส่วนรวมกันสูงเกือบ 30% ของแร่นิกเกิลสำรองทั่วโลก นอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติปริมาณรวมราว 2 ใน 3 ของผลผลิตโลก ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบด้านการผลิตยางล้อรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ ที่ทำจากยาง

>>> ตลาดอาเซียนมีแรงงานจำนวนมากรองรับ เนื่องจากอาเซียนยังเต็มไปด้วยประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) และคาดว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรวัยทำงานก็จะยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น สวนทางกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น EU และญี่ปุ่น ที่ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มหดตัว รวมถึงสหรัฐฯ ที่จำนวนประชากรวัยทำงานแทบจะไม่เติบโต โดย World Bank คาดว่าในปี 2575 หรือในอีกราว 10 ปีข้างหน้า อาเซียนจะมีกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น 8% จากปี 2565 และในปี 2585 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 13%

การที่อาเซียนมีความพร้อมในด้านทรัพยากร ทั้งพลังงานหมุนเวียน ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และแรงงานจำนวนมาก ตลอดจนการเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของโลกหลายรายการมาก่อน เป็นเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ที่สอดรับกับกระแสสิ่งแวดล้อมให้เข้ามาในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะหากอาเซียนสามารถนำเสน่ห์ดังกล่าวมาผสานกับจุดเด่นของอาเซียนที่มีเขตการค้าเสรีซึ่งมีเป้าหมายลดภาษีศุลกากรทั้งวัตถุดิบและสินค้าระหว่างสมาชิกภายในอาเซียนลงให้เหลือน้อยที่สุดหรือเหลือ 0% มาเป็นจุดแข็ง ก็จะทำให้อาเซียนกลายเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงทรัพยากรที่มีในแต่ละประเทศสมาชิกมาร้อยเรียงกันเป็น Green Supply Chain in ASEAN ที่แข็งแกร่งได้

พรข้อที่ 3…นโยบายสนับสนุนพร้อม : อาเซียนมีนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในการสนับสนุนการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

>>> นอกจากแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนออกนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว อาทิ การให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างกัมพูชา ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 3-9 ปี สำหรับการลงทุนทั้งในพลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียน และความหลากหลายทางชีวภาพ มาเลเซีย ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5-10 ปี สำหรับการลงทุนด้านประสิทธิภาพพลังงาน พลังงานหมุนเวียน และไบโอพลาสติก เวียดนาม ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 4 ปี สำหรับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และยกเว้นภาษีนิติบุคคล 15 ปี สำหรับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านพลังงาน และ ไทย ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี สำหรับการลงทุนด้านการพัฒนาประสิทธิภาพด้านพลังงาน 3-8 ปี สำหรับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และ 5-8 ปี สำหรับการลงทุนด้านไบโอพลาสติก

อาเซียนยังมีนโยบายสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เช่น จัดตั้งกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility : ACGF) ซึ่งบริหารจัดการโดย Asian Development Bank (ADB) เพื่อให้สมาชิกอาเซียนมีแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน การขนส่งที่ยั่งยืน การจัดการขยะ ตลอดจนการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่นในปี 2562 ACGF ได้ให้วงเงินกู้บางส่วนแก่กัมพูชาในการพัฒนาโครงการสวนพลังงานแสงอาทิตย์ (Cambodia National Solar Park Project) ซึ่งช่วยให้กัมพูชาผลิตไฟฟ้าราคาต่ำได้

ยิ่งไปกว่านั้น อาเซียนยังตื่นตัวและอยู่ระหว่างเร่งพัฒนา ASEAN Taxonomy เพื่อทำให้การลงทุนสีเขียวในอาเซียนน่าเชื่อถือมากขึ้น ป้องกันปัญหา Green Washing หรือการแอบอ้างว่าเป็นองค์กรรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็น โดย ASEAN Taxonomy จะช่วยให้ภาครัฐ สถาบันการเงิน และนักลงทุน มีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอาเซียน จึงสามารถจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม

ผมเชื่อว่านโยบายต่างๆ ของอาเซียนที่ออกมาแล้วและคาดว่าจะทยอยออกมามากขึ้นจะจูงใจให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ เพิ่มขึ้นในอาเซียน เพราะผู้ลงทุนไม่เพียงได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุน แต่ยังมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำลงได้ ผ่านการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะจาก ASEAN Taxonomy หรือจากของแต่ละประเทศเองอย่าง Thailand Taxonomy เนื่องจากตลาดทุนและสถาบันการเงินต่างนำประเด็นเรื่องความยั่งยืนมาใช้พิจารณาการให้สินเชื่อหรือเลือกลงทุนกันมากขึ้น

“พร 3 ประการ” ข้างต้นนี้ ผมเห็นว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อาเซียนเดินหน้าสู่ Green Era หรือเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพได้ในเร็ววัน และเพื่อไม่ให้ตกขบวน ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มมองหาโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเดินหน้าสู่ Green Era กันได้แล้วนะครับ เช่น ช่องทางในการเจาะตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอาเซียน ซึ่งไทยมีแต้มต่อในการทำตลาดอาเซียนเนื่องจากสินค้าและบริการของไทยเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับ โดยเฉพาะใน CLMV และช่องทางในการลงทุนในอาเซียนซึ่งยังต้องการการลงทุนสีเขียวอีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ ท้ายนี้ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเข้าไปทำการค้าการลงทุนสีเขียวในอาเซียน ทาง EXIM BANK ก็พร้อมให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรทั้งในเรื่องเงินทุน และการป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุน โดย EXIM BANK เชื่อว่า ASEAN Green Era จะเป็นขุมทรัพย์แห่งโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนที่รอผู้ประกอบการไทยเข้าไปคว้ามา ดังคำกล่าวของ Jim Carrey นักแสดงชื่อดังระดับโลกที่ว่า “Life opens up opportunities to you, and you either take them or you stay afraid of taking them” เมื่อโอกาสเข้ามาในชีวิต คุณจะกล้าหรือกลัวที่จะรับโอกาสนั้นไว้

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนาเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนาข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • BRICS-11 … New Game Changer รับมือขั้วอำนาจใหม่ รับปีมังกร

    สวัสดีปีใหม่และขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ปีมังกร ผมขอเปิดศักราชต้นปีนี้ด้วยข่าวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่ของโลก นั่นคือ BRICS ซึ่งเดิมเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาด...

    calendar icon22.01.2024
  • Green Tourism : The Time to Transform is Now.

    “Work hard, Travel harder.” ในช่วงปลายปีที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน หลายท่านคงเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชาร์จพลังกันแล้ว เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยว เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิ...

    calendar icon14.11.2023
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview