เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ

มาตรการ COVID-19 ที่ควรรู้สำหรับผู้ประกอบการในเมียนมา

       สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเมียนมานับว่ายังอยู่ในวงจำกัด โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 10 เมษายน 2563) จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเมียนมามีอยู่เพียง 27 ราย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2 พันราย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อภาคธุรกิจในเมียนมาอยู่ในระดับค่อนข้างสูงตามความเชื่อมโยงของธุรกิจกับตลาดโลก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของเมียนมาที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบผ้าในช่วงต้นปีที่จีนเกิดการระบาดอย่างหนัก ตามด้วยการชะลอคำสั่งซื้อจากตลาดหลักอย่าง EU ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เมื่อ COVID-19 ระบาดไปทั่วยุโรป ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาวางแผนรับมือโดยใช้ทั้งมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ มาตรการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ และมาตรการเชิงรับในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนทำธุรกิจในเมียนมาจึงควรทราบถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในภาวะไม่ปกตินี้ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยมีรายละเอียดมาตรการที่สำคัญ ดังนี้

มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลลูกจ้างภายใต้สถานการณ์ COVID-19

       ภายใต้กฎหมายป้องกันและควบคุมโรคติดต่อปี 2538 (Prevention and Control of Communicable Diseases Law) และคำแนะนำในการป้องกัน COVID-19 ของกระทรวงสุขภาพและกีฬา รวมถึงกฎระเบียบ
การจ้างงานของเมียนมา ผู้ประกอบการในเมียนมาควรปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

  • นายจ้างควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ของกระทรวงสุขภาพและกีฬา ได้แก่

- นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างที่ (1) มีอาการไข้ ไอ หรือหายใจไม่สะดวก (2) ตั้งครรภ์ และ (3) อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 หยุดอยู่บ้านและไม่ต้องมาทำงานที่สถานประกอบการนายจ้างต้องให้ลูกจ้างสวมหน้ากากอนามัย และมีการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ

- สถานประกอบการควรมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ

- ยานพาหนะที่ใช้รับส่งพนักงานควรมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ

- การดำเนินงานในสถานประกอบการควรยกเลิกการใช้เครื่องตรวจอัตลักษณ์บุคคล อาทิ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

- สำหรับธุรกิจก่อสร้าง อนุญาตให้มีคนงานก่อสร้างอยู่รวมกันไม่เกิน 50 คน ในพื้นที่ก่อสร้างแต่ละแห่ง

  • กรณีมีลูกจ้างติดเชื้อ COVID-19 นายจ้างมีหน้าที่รายงานต่อหน่วยงานสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ภายใต้กฎหมายควบคุมโรคติดต่อ โดยกระทรวงสุขภาพและกีฬาของเมียนมาได้ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
  • ลูกจ้างที่ติดเชื้อ COVID-19 สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยแบบได้รับเงินเดือน (Medical/Paid Leave) เป็นเวลา 30 วัน โดยเป็นสิทธิ์ที่บังคับใช้กับกลุ่มลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างปัจจุบันมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้ ในกรณีที่จำเป็นต้องลางานเกิน 30 วัน ลูกจ้างที่ทำประกันสังคมและจ่ายเงินประกันสังคมแล้วอย่างน้อย 4 เดือน จะมีสิทธิ์ลาเพิ่มจากการลาป่วย 30 วันแรก โดยจะได้รับค่าจ้าง 60% ของเงินเดือน (คำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา) จากสำนักงานประกันสังคม เป็นระยะเวลาสูงสุด 26 สัปดาห์

มาตรการการขอวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในเมียนมา

       จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ชาวต่างชาติซึ่งทำงานอยู่ในเมียนมาอาจประสบปัญหาไม่สามารถเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากบรรดาสายการบินต่างๆ ลดจำนวนเที่ยวบินลง รวมถึงการจำกัดการเดินทางผ่านสนามบินและด่านชายแดน ดังนั้น Directorate of Investment and Company Administration (DICA) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา จึงได้ออกประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบการต่ออายุวีซ่าในช่วงสถานการณ์
การแพร่ระบาด COVID-19 โดยลดจำนวนเอกสารประกอบการต่ออายุลงหากยื่นขอต่ออายุวีซ่าธุรกิจทุกประเภทไม่น้อยกว่า 5 วัน ก่อนหมดเวลาอนุญาตให้พำนักในเมียนมา นอกจากนี้ เอกสารบางรายการ อาทิ เอกสารรับรองความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเอกสารการสมรส ยังสามารถให้บริษัทที่ว่าจ้างเป็นผู้ออกจดหมายรับรองแทนได้

มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางเมียนมา

       ธนาคารกลางเมียนมาประกาศลดเกณฑ์อัตราดอกเบี้ยสำหรับธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระหนี้ให้กับภาคธุรกิจ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ดังนี้

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว รัฐบาลเมียนมายังได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเมียนมาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 คือ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 1 แสนล้านจ๊าต (ราว 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลากู้ 1 ปี สำหรับธุรกิจท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โรงแรม บริษัทนำเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs โดยเปิดให้ยื่นคำร้องขอกู้ได้ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2563 – 9 เมษายน 2563 มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นให้กับธุรกิจท้องถิ่นเมียนมาภายใต้วิกฤตในปัจจุบัน โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 มีผู้ประกอบการมาลงทะเบียนยื่นขอกู้เงินแล้วกว่า 400 ราย

       ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในเมียนมา การปฏิบัติตามกฎหมายและคำแนะนำต่างๆ ด้านแรงงานของรัฐบาลเมียนมาถือเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกันการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดยังแสดงให้เห็นความจริงใจที่จะดูแลและให้ความสำคัญในสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกจ้างของตน ความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในภาวะยากลำบากจะเป็นพลังที่ผลักดันให้คนงานทุ่มเททำงานอย่างมีประสิทธิภาพและยึดเหนี่ยวคนงานให้อยู่กับองค์กรอย่างยาวนาน

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว

    ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...

    calendar icon31.03.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview